หลังจากกลุ่มบริษัทในเครือดุสิตธานี ได้ตัดสินใจหยุดการให้บริการธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยที่เครือดุสิตธานีเป็นเจ้าของเป็นการชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม 7 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา และโรงแรมดุสิตธานี ภูเก็ต ซึ่งหยุดให้การบริการทันทีตามคำสั่งของจังหวัด ส่วนอีก 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน,โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่,โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่,โรงแรม ดุสิตปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ และโรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพ ให้หยุดการรับจอง ยุติการรับลูกค้าใหม่ทันที และให้พนักงานทุกคนดูแลสุขภาพอนามัยของลูกค้าที่พักอยู่อย่างเคร่งครัด
ต่อเรื่องที่เกิดขึ้นศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวในวันที่ “ดุสิตธานี” มีความจำเป็นต้องปิดโรงแรมทั้ง 7 แห่งในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า
'วิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณล่วงหน้า เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย เพราะไม่ใช่แค่กระทบกับธุรกิจ แต่ยังกระทบถึงการใช้ชีวิต กระทบถึงความรู้สึก เราต้องอยู่ห่างจากคนที่เรารัก เราไม่สามารถแม้แต่จะกอด เพื่อปลอบประโลมใจหรือให้กำลังใจกันได้ในวันที่เราต่างต้องการมันมากที่สุด แต่เราจะต้องผ่านพ้นมันไปให้ได้ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งและอดทน'
ศุภจี บอกว่า ในวันที่ต้องตัดสินใจประกาศยุติการให้บริการโรงแรม 7 แห่งในประเทศ ซึ่งดุสิตธานีเป็น “เจ้าของ” เป็นการชั่วคราวนั้น เธอไม่ต้องใช้ความยากลำบากในการตัดสินใจ เพราะเพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้เข้าพักและพนักงาน จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่า “สุดท้ายเราต้องปิดโรงแรม” แต่สิ่งที่ยากกว่า ละเอียดอ่อนกว่า คือ การดูแลพนักงานทุกคนของดุสิตธานี ที่อยู่ร่วมกันเหมือนกับครอบครัวใหญ่ที่ผูกพันกันมานาน โดยยังคงต้องรักษาสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เช่น ผู้ถือหุ้น
เบื้องหลังการบริหารจัดการวิกฤติการณ์นี้ ศุภจีบอกว่า เธอเลือกที่จะบาลานซ์ด้วยการยืดระยะเวลาและยืนหยัดจน “ดุสิตธานี” น่าจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ประกาศปิดโรงแรมเป็นการชั่วคราว ซึ่งในระหว่างนั้น ในฐานะผู้บริหาร เธอต้องประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมๆ กับจัดวางโครงสร้างทางการเงิน ดูแลสภาพคล่อง ควบคุมต้นทุน เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้ว พนักงานอยู่ได้ ธุรกิจอยู่ได้ ซึ่งหมายถึงผู้ถือหุ้นก็จะอยู่ได้
“เรามีมาตรการเพื่อให้เกิดผลกระทบกับพนักงานน้อยที่สุด โดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติการ เราพยายามจะไม่ให้กระทบเลย เพราะเราทราบอยู่แล้วว่า พนักงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการการประคับประคอง เราต้องดูแลให้ดี”
สิ่งที่ดุสิตธานีทำ ก็คือ ผู้บริหารยอมลดเงินเดือนตัวเองลง ผู้บริหารระดับสูง ระดับรองลงมา ก็ลดเงินเดือนตามส่วน ตั้งแต่ลด 50% จนถึง 25% เพื่อให้พนักงานที่อยู่ในฐานล่างปิรามิดของเราไม่ได้รับผลกระทบ ระดับปฏิบัติการยังคงได้รับเงินเดือน 100% เต็มเหมือนเดิม ได้รับสวัสดิการเหมือนเดิม ไม่มีการลดคน แม้โรงแรมจะปิดให้บริการชั่วคราว พนักงานของเราจะได้ไม่ต้องไปเพิ่มภาระให้กับประกันสังคม
เพราะดุสิตธานียังพอมีกำลัง เรายังคงดูแลทุกคนได้อย่างเท่าเทียม บางคนเข้าใจผิดว่า เราไม่ลดเงินเดือน แต่ลดเซอร์วิส ชาร์จ ซึ่งไม่ใช่ เพราะถ้าไม่มีงาน ไม่มีรายได้ โรงแรมปิด ก็ย่อมไม่มีเซอร์วิส ชาร์จอยู่แล้ว
ข้อสังเกตประการสำคัญนับเนื่องตั้งแต่การยุติการให้บริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงการปิดโรงแรม 7 แห่งเป็นการชั่วคราว คือ การรักษาพนักงานกลุ่มดุสิตธานีไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่ง “ศุภจี” บอกว่า เพราะ “พนักงาน” คือคนที่ทำให้เกิดธุรกิจนี้ และธุรกิจนี้จะเดินหน้าต่อไปได้ก็ด้วยพนักงาน
“ในวันที่เราให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปิดโรงแรม เพื่อควบคุมการแพร่กระจาย และเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน แต่เราก็ยังทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น ดิลิเวอรี่ พนักงานของเรายังมีงานทำ เรายังพยายามหารายได้และยังแบ่งปัน เราใช้ช่วงเวลานี้ถือโอกาสซ่อมบำรุงโรงแรม ใช้ช่วงเวลานี้ปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยการทำ Business Transformation และ Technology Transformation เพื่อให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพและไม่เกิดความซ้ำซ้อน
เราเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะรอวันกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และเราเชื่อว่า วันนั้นจะเป็นที่พนักงานของเรามีขวัญและกำลังใจในการเดินหน้าไปด้วยกันอย่างมีพลัง เพราะเราผ่านความยากลำบากด้วยกันแบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว การปิดโรงแรมครั้งนี้จะไม่มีคำว่าสูญเปล่า”
ดังนั้นแม้วันนี้ห้องพักทุกห้องของโรงแรมดุสิตธานีจะถูกปิดลง แต่เมื่อประตูห้องพักถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง “ศุภจี” มั่นใจว่า หัวใจของพนักงานทุกคนที่ได้รับการเยียวยาและดูแลจากองค์กร จะกลับมาพร้อมให้บริการลูกค้าของดุสิตธานีอย่างเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม