ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ฉุดให้ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของไทยในปี 2563 กำลังจะถอยหลังย้อนกลับไปอีก 10 ปี เมื่อล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยจนถึงสิ้นปีนี้ จะสร้างรายได้ทั้งจากต่างชาติเที่ยวไทย และไทยเที่ยวไทย อยู่ที่ราว 1.23 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ในช่วงปี 2553-2554 ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว ต้องเผชิญกับการดำเนินธุรกิจที่ถดถอยอย่างหนัก และต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสคลี่คลาย
มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย และการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าไทย ที่เริ่มมาเป็นเวลากว่า 3 เดือน ซึ่งล่าสุดมีการขยายเวลาไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน นี้ ทำให้การท่องเที่ยวเริ่มเป็น 0 มาตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา
จากสถานการณ์เช่นนี้แม้จะเพิ่งผ่านมา 3 เดือน แต่ภาคธุรกิจต่างบักโกรก สะท้อนได้จากผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่ธุรกิจที่เคยมีกำไร ต่างพลิกกลับมาขาดทุน มีส่วนน้อยที่บางรายยังกำไรอยู่บ้าง แต่ก็กำไรหดเกินครึ่ง มีเพียง บมจ.เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) ธุรกิจโรงแรมในเครือสิงห์เอสเตท เท่านั้นที่พลิกจากขาดทุนมากำไร 235 ล้านบาท ซึ่งกำไรที่ได้เป็นกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบริษัทร่วมทุนเข้ามา 10.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ใช่ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจที่มีกำไรแต่อย่างใด
ทั้งจะเห็นชัดเจนว่า ธุรกิจยิ่งใหญ่ก็ยิ่งเจ็บหนัก กลุ่มธุรกิจไทย อย่างไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และยูซิตี้ (ยู) บริษัทอสังหาฯในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ที่เคยกระจายความเสี่ยงด้วยการหันไปซื้อกิจการโรงแรมโดยเฉพาะยุโรป ซึ่งก็ทำรายได้และกำไรให้ธุรกิจได้เป็นอย่างดีก่อนหน้านี้ พอมาเจอโควิด ก็ทำเดี้ยงทั้งถ้วนหน้า เพราะต้องทยอยปิดให้บริการชั่วคราวทั้งในไทยและต่างประเทศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับธุรกิจสายการบินของไทย ที่ปิดงบไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนพุ่งกระชูด อย่าง บางกอกแอร์เวย์ส พลิกจากกำไร มาขาดทุน 338 ล้านบาท เช่นเดียวกับไทยแอร์เอเชีย ที่พลิกจากกำไร 903 ล้านบาท มาขาดทุน 1,223 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนนกแอร์กับการบินไทย แม้จะขอเลื่อนส่งงบการเงินออกไป แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่าขาดทุนมโหฬารแน่นอน
ที่ผ่านมาสายการบินต่างๆ ของไทย ที่เคยหยุดทำการบินไปตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ไม่มีรายได้เข้ามาเลย และเพิ่งจะเริ่มกลับมาทยอยเปิดบินอีกครั้งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ สายการบินที่เคยทำการบินในประเทศ ต่างก็เริ่มทยอยหันกลับมาบินในประเทศเหมือนเดิม ซึ่งปริมาณเที่ยวบินและเส้นทางบินก็ยังจัดว่าน้อยมากหากเทียบกับช่วงปกติ
เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการยังจำกัดอยู่เฉพาะการเดินทางเพื่อไปทำธุรกิจ ทำงาน กลับภูมิลำเนา ยังไม่ใช่การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และในบางจังหวัดยังมีมาตรการกักตัว ทั้งการขายตั๋วได้ไม่เต็มทุกที่นั่ง เพราะต้องดำเนินการขายแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง แม้จะขายตั๋วได้เต็มทุกที่นั่งที่ขาย และมีการขึ้นราคาค่าตั๋วเครื่องบินอีกราว 200 บาทต่อที่เที่ยวบิน ก็ยังไม่ได้ทำให้สายการบินเหล่านี้มีกำไรในแต่ละเส้นทางได้ด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยก็ยังพอมีรายได้จากการขายตั๋วล่วงหน้าเข้ามาพอประทังชีวิตได้บ้าง ระหว่างรอการสนับสนุนซอฟต์โลนจากรัฐบาล ที่แม้แต่ละสายการบินอาจจะไม่ได้เต็มจำนวนตามที่ต้องการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดพ่นพิษ แอร์ไลน์ 4 หมื่นคน สมาคมนักบินไทยร้องรัฐเยียวยา
แต่ก็พอต่อลมหายใจไปได้สักระยะ ระหว่างรอให้ไทยคลายล็อกดาวน์การห้ามอากาศยานทำการบินเข้าไทย ที่ยังต้องรอลุ้นว่าการห้ามล่าสุดที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการขยายออกไปอีกหรือไม่ เพราะจริงรายได้หลักของธุรกิจการบินมาจากเส้นทางบินระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และยิ่งเฉพาะสายการบินที่ทำการบินเฉพาะรูตบินระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, นกสกู๊ต ธุรกิจของสายการบินเหล่านี้ก็ปิดตายมาหลายเดือนแล้ว และไม่สามารถกลับมาบินได้ตามแผน เพราะติดล็อกดาวน์นี้
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เบื้องต้นธนาคารออมสินได้รับมอบหมายให้จัดสรรวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทจากซอฟต์โลน 8 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ระหว่างจัดสรรให้กับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือนอนแบงก์ ซึ่งธนาคารออมสินจะปล่อยซอฟต์โลน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.01% ต่อปี ให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.หรือเอ็กซิมแบงก์) นำไปปล่อยกู้ต่อสายการบินทั้ง 8 แห่ง โดยขั้นตอนพิจารณานั้นจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเป็นผู้นำเสนอ
อย่างไรก็ตามแม้สายการบินจะได้ซอฟต์โลนมาก็จริง แต่ก็คงพอประคองสายป่านให้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะการท่องเที่ยวไทยหลังโควิดคลี่คลาย ก็คงไม่ได้ฟื้นกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิมในปีนี้หรือปีหน้า แต่จะเป็นลักษณะค่อยๆ ทยอยฟื้น เริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งคาดว่ากว่าจะฟื้นกลับมาเติบโตเข้าสู่สภาวะปกติ ก็คาดว่าต้องใช้เวลาอีกราว 3 ปี
เพราะสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ประเมินไว้ว่ากว่าธุรกิจการบินโลก จะมีจำนวนผู้เดินทางทางอากาศ หรือ passenger traffic จะกลับเพิ่มขึ้นมาคืนสู่ระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็คงต้องรอไปจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย
ดังนั้นตราบใดที่สายการบินยังดำเนินธุรกิจไม่ได้ตามปกติ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทย ก็คงต้องเดินแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มนับหนึ่ง จากการสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ และทยอยไต่ระดับการดึงต่างชาติเที่ยวไทย ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรการคลายล็อกดาวน์ที่ค่อยๆ จะทยอยผ่อนปรนขึ้นตามลำดับนั่นเอง แต่ทั้งนี้ธุรกิจจะทนรอไหว หรือไม่ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ธุรกิจต้องตุนสภาพคล่องควบคู่กับการลดค่าใช้จ่าย หรือดาวน์ไซซ์องค์กร เพื่อความอยู่รอดจากวิกฤติใหญ่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
รายงาน : ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21-23 พฤษภาคม 2563