แอร์ไลน์โลกหนี้ท่วมฟ้า “การบินไทย” สายแรกเอเชียเข้าศาลล้มละลาย

05 มิ.ย. 2563 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2563 | 10:00 น.

โควิด-19 นับว่าเป็นหายนะของธุรกิจการบินโลกอย่างแท้จริง ล่าสุดไออาต้า เผยภายในสิ้นปี2563 ธุรกิจการบินโลกจะมีภาระหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.50แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 1.2แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับระดับหนี้สินโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรมเมื่อช่วงต้นปีนี้ 

    สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือ ไออาต้า (International Air Transport Association: IATA)เปิดเผยบทวิเคราะห์ธุรกิจการบินโลก ภายในปี2563 จะมีหนี้สินโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 550,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
    โดยหนี้ใหม่ของสายการบินของโลกกว่า 67,000 ล้านดอลลาร์นั้น จะประกอบด้วยหนี้เงินกู้จากรัฐบาล (50,000 ล้านดอลลาร์) หนี้สินในรูปภาษีเงินได้รอตัดบัญชี หรือ deferred taxes  (5,000 ล้านดอลลาร์) และการค้ำประกันเงินกู้ (12,000 ล้านดอลลาร์) นอกจากนี้หนี้อีก 52,000 ล้านดอลลาร์จะมาจากภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงเงินกู้จากภาคเอกชน (23,000 ล้านดอลลาร์) และการระดมทุนจากตลาดทุน (18,000 ล้านดอลลาร์) เป็นต้น 
     การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่อุตสาหกรรมการบินจะเป็นการอัดฉีดทุน เพื่อต่ออายุให้สายการบินสามารถผ่านพ้นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดนี้ไปได้โดยไม่ต้องปิดกิจการ แต่ทั้งนี้ระหว่างช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูตัวเอง เชื่อว่าก่อนจะถึงสิ้นปี หนี้ในธุรกิจการบินโลกจะพุ่งขึ้น 28% หรือใกล้จะแตะ 550,000 ล้านดอลลาร์ 
    “ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะช่วยให้อุตสาหกรรมการบินอยู่รอดต่อไปได้ แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือ ทำอย่างไรบริษัทสายการบินจึงจะอยู่รอดโดยไม่จมดิ่งลงในกองหนี้ก้อนมหึมาที่เกิดขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือนี้”  นายอเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอคซ์ ผู้อำนวยการใหญ่ของไออาต้ากล่าว 

แอร์ไลน์โลกหนี้ท่วมฟ้า  “การบินไทย”  สายแรกเอเชียเข้าศาลล้มละลาย

      ในภาพรวมแล้ว ขณะนี้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สายการบินคิดเป็นวงเงินรวม 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ 67,000 ล้านดอลลาร์เป็นเงินที่สายการบินต้องชำระคืน ส่วนที่เหลือเป็นเงินอุดหนุนการจ่ายเงินเดือนพนักงาน (34,800 ล้านดอลลาร์) การระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่ม (11,500 ล้านดอลลาร์) และการให้ความช่วยเหลือในรูปการลดหย่อนภาษี/การอุดหนุนทางการเงิน (9,700 ล้านดอลลาร์) ความช่วยเหลือเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคาดว่าสายการบินมีความต้องการใช้เงินสดโดยรวมราว 60,000 ล้านดอลลาร์ภายในช่วงไตรมาสที่2 ของปีนี้ 
    ไออาต้า ยังระบุด้วยว่า กว่าครึ่งของแพ็คเกจความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะก่อให้เกิดหนี้ใหม่แก่บรรดาสายการบิน มีไม่ถึง 10% ของเงินช่วยเหลือที่จะช่วยให้สายการบินมีเงินทุนเพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ภาพรวมด้านการเงินของอุตสาหกรรมการบินเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง การที่สายการบินต้องชำระหนี้คืนให้รัฐบาลรวมทั้งเจ้าหนี้ภาคเอกชน หมายความว่าภาวะวิกฤติของอุตสาหกรรมการบินจะกินเวลายาวนานยิ่งกว่าเวลาที่ต้องใช้ในการเรียกอุปสงค์(ความต้องการเดินทาง)ของผู้โดยสารกลับคืนมา 
    ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินกว่า 123,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะอัดฉีดเพื่อช่วยการบินฟื้นฟูและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 นั้น มูลค่าวงเงินดังกล่าวเทียบเท่า 14% ของรายได้รวมของอุตสาหกรรมการบินในปี 2562 ซึ่งมีรายได้รวม 838,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะได้รับความช่วยเหลือแตกต่างกันไป
    โดยในภูมิภาคอเมริกาเหนือในวงเงินเทียบเท่ากับ 1 ใน 4 (25%) ของรายได้รวมของอุตสาหกรรมการบิน(เฉพาะของภูมิภาคนี้) ในปี 2562 ตามมาด้วยสายการบินในยุโรป และเอเชีย ที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินคิดเป็นสัดส่วนของรายได้รวมในปีที่ผ่านมา 15% และ 10% ตามลำดับ ขณะที่สายการบินในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา แม้จะประสบวิกฤติโควิดหนักหน่วงเช่นกัน แต่กลับได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน โดยเฉลี่ยเพียง 1% ของรายได้รวมในปี 2562 
    รัฐบาลหลายประเทศพยายามให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้บรรดาสายการบินก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ รวมถึงการอัดฉีดเงินสดเพิ่มสภาพคล่องเพื่อไม่ให้สายการบินต้องล้มละลาย 

    “ในบางกรณีที่รัฐบาลมัวแต่ชักช้าหรือรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เร็วพอ หรือมีเงินทุนจำกัด เราจึงได้เห็นการล้มละลายของสายการบิน โดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย อิตาลี ไทย ตุรกี และอังกฤษ  และไออาต้าขอร้องให้บรรดารัฐบาลที่กำลังพิจารณาจะให้ความช่วยเหลือสายการบิน เน้นให้ความสำคัญกับมาตรการที่จะทำให้สายการบินมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น ” นายเดอ จูนิแอคซ์ กล่าวทิ้งท้าย
     การทยอยเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ของสายการบินต่างๆเพื่อหวังพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาอีกครั้ง ปีนี้นับว่าเป็นการยื่นมากสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะเดิมสายการบินก็ประสบปัญหาด้านการเงินอยู่แล้วเดิม โควิด-19 ได้เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องพังพาบไป เพียงแค่ 5 เดือนของปีนี้ จะเห็นสายการบินเข้าสู่กระบวนการล้มลายไปแล้วรวมกว่า 4 สายการบิน ใน 4 ทวีป เริ่มจาก “ฟลายบี” ของอังกฤษ ตามมาด้วย “เวอร์จิน”ออสเตรเลีย “เอเวียนกา" ของโคลอมเบีย และล่าสุด “การบินไทย” สายการบินแรกของเอเชีย ที่เพิ่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ในศาลล้มละลายกลาง หลังสถานการณ์โควิด-19

     อนาคตข้างหน้าของธุรกิจการบินของโลก ยังเป็นหนทางแห่งความยากลำบากที่ต้องฝ่าไป ด่านแรกที่ต้องพบเจอคือการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ได้ จากนั้นต้องก้าวผ่านผลกระทบอย่างรุนแรงทางการเงิน นอกจากนี้ คาดว่ามาตรการควบคุมต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยหลังยุคโควิด-19 จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานขยับสูงขึ้น ต้นทุนคงที่ส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นคงต้องถูกถัวเฉลี่ยไปให้ผู้โดยสารต้องช่วยแบกรับ สายการบินยังต้องลงทุนเพิ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย 
     ที่สำคัญคือเมื่อรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐมาแล้ว ก็เป็นภาระหนี้ที่สายการบินจะต้องชำระคืน หลังจากก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้มาได้แล้ว ความท้าทายในด่านต่อไปของหลายสายการบิน คือการฟื้นสถานะทางการเงินให้กลับมาแข็งแกร่ง

รายงาน : ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 ฉบับ 3,580 วันที่ 4-6 มิถุนายน 2563