‘นิรโทษกรรม’  ปลดล็อกการเมือง  ท่องเที่ยว-ค้าปลีก ลุ้นดึงความเชื่อมั่น 

18 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2563 | 09:08 น.

เอกชนประเมินความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 14 ปี มีสัญญาณปิดฉาก หลังมีข่าวรัฐบาลมีแนวคิด “นิรโทษกรรม คดีทางการเมือง” ที่แกนนำมวลชนทุกขั้ว ต่างต้องคดีกันทุกฝ่าย

 

โดยในส่วนคดีการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและค้าปลีกของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ มี 2 คดีใหญ่ คือ “ การปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค. 2551 และ “การชุมนุมย่านราชประสงค์” ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553

ทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่เพียงสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในขณะที่เกิดเหตุการณ์เท่านั้น ยังส่งกระทบต่อเนื่องยาว 6-12 เดือน และยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

‘นิรโทษกรรม’   ปลดล็อกการเมือง   ท่องเที่ยว-ค้าปลีก ลุ้นดึงความเชื่อมั่น 

เหตุการณ์ปิดสนามบินในปี 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกราย งานเมื่อปี 2552 วิเคราะห์ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมความเสียหาย 2.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคบริการ 1.2 แสนล้านบาท ภาคขนส่ง 9,000 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 6,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ในปี 2552 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยก็ลดลงจาก 14.6 ล้านคนในปี 2551 เหลือ 14.1 ล้านคน อีกทั้งเหตุการณ์นี้ไม่เพียงกระทบเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น ยังส่งผลอย่างรุนแรงต่อธุรกิจการขนส่งทางอากาศด้วย

 

แค่ 10 วันของการปิดสนามบิน กระทบเที่ยวบินไม่ต่ำกว่า 402 เที่ยวบิน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. สูญรายได้2.5-3หมื่นล้านบาท การดำเนินธุรกิจของการบินไทยเองในช่วงนั้นก็เกิดวิกฤตสภาพเรื่องของสภาพคล่องเช่นกัน จนเป็นที่มาของการฟ้องร้องกลุ่มพันธมิตรฯของทอท., การบินไทย,บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งศาลตัดสินให้13 แกนนำกลุ่มพันธมิตรชดเชยค่าเสียหายให้ทอท. 522 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุม ก็ใช้สโลแกน “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”

 

เช่นเดียวกัน การชุมนุมย่านราชประสงค์ ปี 2553 ซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. มีการยึดพื้นที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน สี่แยกราชประสงค์ รวมถึงบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นระยะเวลาเดือนเศษ ก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และการเผาทำลายในหลายจุด รวมถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ครอบคลุมทั้งห้างสรรพสินค้าเซน, อิเซตัน และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ด้วย จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวและศูนย์การค้าในพื้นที่ชุมนุม 3.5 หมื่นล้านบาท

 

แล้วหากถามว่าเมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะเตรียมเสนอ “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีทางการเมือง” ในมุมมองของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ต่างมองว่า เป็นทาง 2 แพร่งที่จะเกิดขึ้น

 

แหล่งข่าวระดับสูงจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองว่า แนวคิดเรื่องของการนิรโทษกรรม มองได้ 2 ทาง ทางที่ 1 คือ ถ้าทำแล้ว จะทำให้เกิดการปรองดองขึ้นมา ก็ช่วยสร้าง บรรยากาศที่ดีให้กับประเทศ ก็เหมือนกับการปล่อยผี และเป็นโอกาสที่จะดึงให้เขามาช่วยงานได้ และทางที่ 2 คือ ถ้าทำไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับมา สร้างเรื่องใหม่ หรือชุมนุมใหม่ การนิรโทษกรรม ก็จะ กลายเป็นการล้างความผิด และไม่ได้ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตามผลการนิรโทษกรรม จะมีหรือไม่ ในระยะสั้นหรือภายในปีนี้ ก็จะไม่ส่งผลใด ต่อการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นหายนะของธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ในขณะนี้ แต่ในระยะยาวหากการนิรโทษกรรม ถ้าทำไปแล้ว สามารถทำให้เกิดการปรองดองได้จริง ก็จะสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการท่องเที่ยวในระยะยาวได้

ขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจการบิน ต่างก็มีมุมมองที่คล้ายกันว่า การนิรโทษกรรม อย่างการปิดสนามบิน จัดว่าเป็นอาญชกรรมอย่างหนึ่ง ที่ต้องว่าไปตามกฏหมาย การนิรโทษกรรม ถ้าทำแล้ว การันตีได้ว่าประเทศจะเกิดความสงบได้จริง สร้างบรรยากาศที่ดีในการท่องเที่ยว ก็คงมีประโยชน์ แต่ถ้านิรโทษกรรมไปแล้ว กลับมาสร้างวุ่นวาย คนก็คงไม่เห็นด้วย แล้วไหนจะคดีความที่มีการฟ้องร้องอีก ซึ่งคดีการฟ้องร้องของทอท.ศาลตัดสินไปแล้ว แต่คดีที่ยังไม่ได้ตัดสิน ทั้งแพ่งและอาญา จะถูกนิรโทษกรรมไปด้วยหรือไม่ ถ้าคดีถูกยกเลิกไปด้วยก็ไม่ถูกต้องสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

‘นิรโทษกรรม’   ปลดล็อกการเมือง   ท่องเที่ยว-ค้าปลีก ลุ้นดึงความเชื่อมั่น 

‘นิรโทษกรรม’   ปลดล็อกการเมือง   ท่องเที่ยว-ค้าปลีก ลุ้นดึงความเชื่อมั่น 

สอดรับกับผู้ประกอบการค้าปลีกในย่านราชประสงค์รายหนึ่ง ที่มองว่า การเซ็ตซีโร่ครั้งนี้ เป็นเกมการเมือง ที่ต้องการเปิดทางพรรค การเมืองบางพรรคเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้อื่นที่ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หากจะปลดล็อกทางการเมือง ก็ต้องมีความชัดเจนในด้านความถูกต้องและเป็นธรรม

 

ขณะที่นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การรีเซ็ตการเมือง เป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในอนาคต แต่ต้องมีความชัดเจน แบบแผนที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นจะได้เกิด ที่ผ่านมาเหตุการณ์การชุมนุมย่านราชประสงค์ ถือเป็นเลิร์นนิ่ง เคสสำหรับผู้ประกอบการ ขณะที่ภาคเอกชนเองที่ผ่านมาเราฝ่าฟันมาได้ทุกสถานการณ์ ไม่ได้พึ่งพาการเมือง แต่ถ้าการเมืองไม่ดี เราก็จะขรุขระไปด้วย

ด้านนายเรวัต จินดาพล ประธาน บริษัท มิส ลิลลี่ เอ็มดี ซัพพลาย จำกัด บริษัทในกลุ่มมิสลิลลี่ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมจะส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะ การรีเซ็ตการเมืองถือว่าดีอยู่แล้ว ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อย่างน้อยได้ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่การรีเซ็ทควรจะทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปในหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวกับความยุติธรรม ฯลฯ

 

“หากนายกฯประยุทธ์ คิดจะทำ และทำได้จริง ประเทศไทยจะเป็นที่ 1 ในอาเซียน จากบรรยากาศการลงทุนและความก้าวหน้าในธุรกิจ และท่านจะกลายเป็นลีกวนยู ของเมืองไทย” 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563