กรมท่าอากาศยาน เปิดเผยว่า จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งข้อสังเกตในการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ซึ่งทางกรมท่าอากาศยานขอชี้แจงเหตุผลจำนวน 6 ข้อ ประกอบไปด้วย
1. กรมท่าอากาศยานเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาโครงข่ายและกิจการท่าอากาศยานให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาท่าอากาศยานให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ
2. กรมท่าอากาศยานได้จัดทำแผนการพัฒนาท่าอากาศยาน 2 ระยะให้สอดคล้อง และเป็นไปตามที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งผลให้แผนพัฒนาท่าอากาศยาน มีการลำดับความสำคัญ ระยะเวลาการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และสามารถปรับปรุงลำดับระยะเวลาในการลงทุนในแผนที่เคยกำหนดไว้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้
3. สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ บรรจุอยู่ในปลายแผนการลงทุนระยะที่ 1 ช่วงปี งบประมาณ 2563-2566 มีระยะเวลาทั้งสิ้น ประมาณ 4 ปี วงเงินรวมในการลงทุน 1,725 ล้านบาท การก่อสร้างขนาดใหญ่ในแผนพัฒนาท่าอากาศยานระยะที่ 1 ได้รับการจัดสรรโดยประมาณ มูลค่า 14,600 ล้านบาท (ช่วงปีงบประมาณ 2558-2564) โดยท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณคิดเป็น ร้อยละ 11.8 จากการลงทุนทั้งหมด โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณครั้งแรกในปี 2563
4. การพัฒนาท่าอากาศยาน(การลงทุน) ของกรมท่าอากาศยานใช้หลักการอยู่ 2 หลักการดังนี้ 1.หลักการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณผู้โดยสารหรือเที่ยวบินมากเกินที่ท่าอากาศยานจะรองรับได้ (Demand side) 2.หลักการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้เกิดปริมาณผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Supply side)
5. จากสถิติปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2553 มีจำนวน 6,113 คน ต่อปี ถึงปี 2562 มีปริมาณผู้โดยสาร 349,440 คนต่อปี จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด หากคิดช่วงปีที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจะเฉลี่ยอยู่ที่ 144% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยสูงสุดของท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน โดยเฉพาะช่วงก้าวกระโดดในปี 2560-2562 และในช่วงเวลาที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีการแข่งขันกีฬาจะมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสาร ต่อชั่วโมง เกินขีดความสามารถที่ท่าอากาศยานจะรองรับได้
ดังตัวอย่างการจัดการแข่งขัน MOTO GP ในชั่วโมงคับคั่งจะมีปริมาณผู้โดยสาร 720 คน (4 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง ซึ่งอาคารที่พักผู้โดยสารของท่าอากาศยานบุรีรัมย์ในปัจจุบันห้องผู้โดยสารขาออกรองรับได้ 300 คน (2 เที่ยวบิน ) ต่อชั่วโมง และห้องผู้โดยสารขาเข้ารองรับได้ 150 คน (1 เที่ยวบิน) ต่อชั่วโมง
6. จากข้อเท็จจริงดังกล่าว กรมท่าอากาศยานจึงได้เสนอแผนพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วใน ปี 2563-2565) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,000 คน/ชั่วโมง หรือ 2.80 ล้านคน/ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 619 ล้านบาท เปิดให้บริการในปี 2566
2.โครงการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร อาคารคลังสินค้าและลานจอดอากาศยานขนส่งสินค้า กรมท่าอากาศยานขอรับการจัดสรร งบประมาณในปี 2564 จำนวน 950 ล้านบาท ให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ชนิด B787 หรือ A330 ในการบินพิสัยไกล เพื่อให้สามารถเปิดเส้นทางบินตรงจากออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 2 ในการวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ ให้ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เป็นศูนย์กลางทางการบินของอีสานใต้ในการเชื่อมการขนส่งทางอากาศกับกลุ่มประเทศ CLMV และกลุ่มอนุลุ่มแม่น้ำโขง
รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมท่าอากาศยานภูมิภาค ให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิต สินค้าในแถบอีสานใต้ ออกสู่ตลาดต่างประเทศส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมเสริมศักยภาพของการเป็นเมืองกีฬาครบวงจร (Sport city) และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานได้พิจารณาจัดตั้งคำของบประมาณ ตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อเดินหน้าภารกิจของหน่วยงาน ให้สามารถให้บริการการขนส่งทางอากาศให้แก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึงและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล