กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง ฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 ส.ค.2563 ใกล้เข้ามา แต่ การจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการ กลับล่าช้าจากสาเหตุ ปัญหาการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ที่ขาดความลงตัว แม้จะตกลงว่าจ้างกันแล้วถึง 20 ล้านบาท ก็ยังไม่สามารถทำแผนให้คืบหน้า จนต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษาเพิ่มเติมอีกชุด เสียเงินเพิ่มอีก 17.5 ล้านบาท เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะกรรมการ บมจ.การบินไทย (THAI) ชี้แจงว่า
บมจ.การบินไทย (THAI) ได้ว่าจ้าง บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด จำนวนเงิน 20 ล้านบาทในการเข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย แต่การว่าจ้างดังกล่าว ทางอีวายฯไม่สามารถดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูได้ครบ โดยหากต้องการผู้เชี่ยวชาญที่เคยจัดทำแผนฟื้นฟูสายการบินมาก่อน (Airline Expert) ก็ต้องว่าจ้างบริษัทอีวายฯในสาขาต่างประเทศ ดังนั้น จึงให้อีวายฯสาขาต่างประเทศมานำเสนอแผน และพร้อมกันนี้ ได้นำบริษัทกฎหมายและที่ปรึกษารายอื่น ๆ มานำเสนอแผนด้วยเพื่อเปรียบเทียบกัน ซึ่งมี 4-5 บริษัทที่ได้เข้ามานำเสนอ โดยเงื่อนไขสำคัญคือ บริษัทที่ปรึกษาต้องมีประสบการณ์ฟื้นฟูกิจการสายการบินมาก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กินโต๊ะ "การบินไทย" ที่ปรึกษาบ้าเลือด เสียค่าโง่จ้างอีวายทำแผนฟื้นฟู
งัด6กลยุทธ์ ฟื้น "การบินไทย" ขายตั๋วราคาเดียว ดึงต่างชาติร่วมทุน
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ก่อนที่ตนเองจะเข้ามานั่งเป็นกรรมการ THAI ทางอีวายฯ ประเทศไทย ได้รับการว่าจ้างจากผู้บริหารและคณะกรรมการ การบินไทย ให้มาดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามล่าสุดคณะกรรมการ การบินไทย ได้เลือกบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ โค ซึ่งมีประสบการณ์ฟื้นฟูกิจการอเมริกันแอร์ไลน์ มาร่วมงานเพิ่มเติมด้วยในราคาว่าจ้าง 17.5 ล้านบาท ดังนั้น แมคคินซีย์ฯ จึงจะทำงานประกบคู่อีวายฯในการจัดทำแผนฟื้นฟู และแมคคินซีย์ฯ จะจัดทำแผนเรื่องบุคลากรให้ด้วย
"ก่อนหน้านี้พวกผมไม่ทราบ ว่าอีวายฯไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็บอกว่านึกว่าจะทำได้ครบ เขาบอกว่าที่จะทำได้เป็นสาขาในต่างประเทศ เลยบอกให้มาพรีเซนต์ แต่เราไม่ได้จ้างอีวายฯต่างประเทศ และเห็นว่าควรจะนำรายอื่นมาเพื่อเปรียบเทียบกัน สุดท้ายได้มา 4-5 บริษัท เพราะเงื่อนไขต้องฟื้นฟูกิจการสายการบินด้วย"
นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวต่อไปว่า การฟื้นฟูกิจการต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัท และรูปแบบการบริหารงานด้วย
ทั้งนี้ นอกจากสองบริษัทดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัจจุบัน การบินไทยมีที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ ร่วมดำเนินการในการทำแผนฟื้นฟู ได้แก่ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และบล. ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาการเงิน