ทอท.รื้อสัญญาใหม่ ต่อลมหายใจ ‘คิงเพาเวอร์’ ฝ่าโควิด

03 ส.ค. 2563 | 11:30 น.

โควิด-19 ฉุดอาณาจักรแสนล้านบาท “คิงเพาเวอร์” สะเทือนหนักสุดเป็นประวัติการณ์จากธุรกิจในมือร่วม 11 บริษัท ซึ่งทุกบริษัทล้วนผูกติดกับเรื่องของการเดินทางและการท่องเที่ยวทั้งสิ้น

    เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส ยังไม่คลี่คลาย และหลายประเทศมีการระบาดซ้ำ การจำกัดการเดินทางเข้าออก-นอกประเทศจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจของคิงเพาเวอร์ ก็เกิดความชะงักงัน ไม่ต่างกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่หยุดชะงักไปทั้งโลก

    รายได้หลักกว่า 30 ปี ที่หล่อเลี้ยงคิงเพาเวอร์ คือ ธุรกิจดิวตี้ฟรี ที่มีอยู่ทั้งหมด 11 แห่ง โดยเป็นดิวตี้ฟรีในเมือง 5 แห่ง ได้แก่ คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ,คิงเพาเวอร์ มหานคร, คิงเพาเวอร์ ศรีวารี, คิงเพาเวอร์ พัทยา,คิงเพาเวอร์ ภูเก็ต ภายใต้บริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และดิวตี้ฟรี ภายในสนามบิน อีก 6 แห่ง ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ,ดอนเมือง,เชียงใหม่,ภูเก็ต, หาดใหญ่, อู่ตะเภา ภายใต้บริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

ปัจจุบันเปิดดิวตี้ฟรี 2 สาขา

    แต่นับจากรัฐบาลล็อกดาวน์สั่งปิดสถานประกอบการตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม เป็นต้นมา ก็ทำให้คิงเพาเวอร์ ทยอยปิดการให้บริการดิวตี้ฟรีชั่วคราว จนปัจจุบันแม้รัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ก็กลับมาเปิดให้บริการแล้วเพียง 2 แห่ง คือ คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ และคิงเพาเวอร์ มหานคร ส่วนดิวตี้ฟรีในสนามบิน ก็ได้ปิดให้บริการไปตั้งแต่รัฐบาลออกประกาศห้ามอากาศยานบินเข้าไทย เนื่องจากไม่มีผู้โดยสาร เปิดไปก็คงไม่คุ้ม

     รวมถึงการปรับวิธีการขายไปที่การผลักดันการขายผ่านทางออนไลน์ www.kingpower.com และแอปพลิเคชั่น KING POWER หรือ ขยายรูปแบบการขายจากออนกราวน์ ไปสู่ ออนไลน์ โดยเลือกที่จะไม่ปลดพนักงานหรือลดเงินเดือน แต่ให้พนักงานทั้ง 1.1 หมื่นคน ปรับตัวเองเป็นพนักงานขายสินค้าออนไลน์ โดยได้รับความร่วมมือจากซัพพลายเออร์สินค้าแบรนด์เนมต่างๆ ลดราคาสินค้าในราคาพิเศษ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าแบรนด์เนม ต่างๆได้ในราคาดิวตี้ฟรี (ปลอดภาษีอากร) โดยไม่ต้องมีเที่ยวบิน

    อย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้ราคาที่ลดมากจากทุกแบรนด์เนม แต่ก็มีหลายแบรนด์เนมลดราคาให้ และเมื่อรวมกับสินค้า Non Duty free จำพวก เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการจัดส่งสินค้าให้โดยไม่มีค่าจัดส่ง ก็ทำให้อย่างน้อย คิงเพาเวอร์ ก็พอจะมียอดขายเข้ามาได้บ้างพอให้พนักงานมีรายได้จากค่าคอมมิชชันบ้าง แต่ก็คงเทียบไม่ได้กับยอดขายของคิงเพาเวอร์ ก่อนโควิดที่เคยได้รับเป็นกอบเป็นกำ

ยอดขายวูบ 50%       

    นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กล่าวว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักทั่วโลก โดยคาดว่ายอดขายของคิงเพาเวอร์ในปีนี้ จะลดลงมากกว่า 50% ซึ่งที่ผ่านมาเราให้พนักงาน 1.1 หมื่นคน ช่วยกันขายสินค้าของคิงเพาเวอร์ผ่านทางออนไลน์ โดยอยากให้ขายได้สัก 10-20% แต่ตอนนี้ยังไม่ถึง ก็ต้องผลักดันต่อไป เพราะพนักงานก็จะได้ค่าคอมมิชั่นจากการขายด้วย 

   “อย่างไรก็ตามจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี ก็น่าจะทำให้ประเทศไทย คงจะมีการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวที่เร็วกว่าประเทศอื่น ซึ่งก็เชื่อว่ารัฐน่าจะการบาลานซ์ให้ดี เพื่อให้เศรษฐกิจอยู่ได้ด้วย เพราะเศรษฐกิจพังก็คงไม่มีใครรับได้” นายอัยยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ทอท.รื้อสัญญาใหม่  ต่อลมหายใจ ‘คิงเพาเวอร์’ ฝ่าโควิด

ได้อานิสงส์ทอท.อุ้ม

    แม้คิงเพาเวอร์ จะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ในอีกด้านโควิด ก็เป็นมูลเหตุที่ทำให้คิงเพาเวอร์ ได้อานิสงส์ จากการที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรวมถึงสายการบินกว่า 1,000 สัญญา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และจากความล่าช้าในการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่คาดว่าจะเปิดได้ในปี65 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) ในสนามบินของทอท. ก็ทำให้คิงเพาเวอร์ ได้อนิสงค์มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น

    อานิสงส์แรก คือ การได้รับการยกเว้นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ แต่จะเรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละจากยอดขายสินค้า ซึ่งหากผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายมากหรือน้อย ทอท. จะได้ส่วนแบ่งมากหรือน้อยตามสัดส่วนด้วยเช่นกัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.63-31 มี.ค.65

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอท. เลื่อน 3 สัญญาสัมปทาน “คิงเพาเวอร์" 1 ปี
ทอท.เยียวยาผู้ประกอบการกว่า 1 พันสัญญา
เปิดไส้ใน“คิงเพาเวอร์”  ควัก 2.4 แสนล้านยึดสัมปทานสนามบิน 
สูตรสำเร็จ‘คิงเพาเวอร์’ ยึด4สนามบินนาน10ปี
‘คิงเพาเวอร์’ทุ่มสุดตัว ยืน1ดิวตี้ฟรีไทย ต่อยอดท็อปโลก

“คิงเพาเวอร์”ตอบรับนายกฯตู่ทุ่ม1.5พันล.ช่วยโควิด
 

     ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของคิงเพาเวอร์ในปัจจุบันก็จะได้รับการเยียวยาจากมาตรการดังกล่าว โดยในช่วงดังกล่าวจะจ่ายผลตอบแทนรายเดือนในอัตรา20%ของยอดขายสำหรับดิวตี้ฟรี และ15% จากยอดขายในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ที่วางไว้เดิมว่าในปี 64 ต้องจ่ายร่วม 2.3 หมื่นล้านบาท

    อานิสงส์ที่สอง คือ มีการปรับเลื่อนระยะเวลาการประกอบธุรกิจของคิงเพาเวอร์ตามสัญญาใหม่ ใน 3 สัญญา ที่จะเริ่มในวันที่ 28 ก.ย.63 โดยระยะที่ 1 ขยายเวลาเข้าพื้นที่ปรับปรุงร้านค้าในอาคารผู้โดยสารหลักและภายในอาคารเทียบเครื่องบินจากเดิม 6 เดือนออกไปเป็น 1 ปี เป็นตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.63 ถึงวันที่ 31 มี.ค. พร้อมกับเลื่อนระยะเวลาการเริ่มต้น และสิ้นสุดการประกอบกิจการ ระยะที่2 (เปิดดำเนินธุรกิจและจ่ายค่าตอบแทน) เป็นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย 65 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2575

      อานิสงค์ที่สาม คือ ทอท.ปรับวิธีการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีการเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยอิงจากจำนวนผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิที่เข้ามาใช้บริการจริง ซึ่งจำนวนผู้โดยสารจะยังต่ำกว่าประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่คิงเพาเวอร์ วางไว้ตอนเข้าร่วมประมูล ซึ่งจะใช้วิธีนี้ไปจนกว่า จำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเทียบเท่าปี 62 จึงจะกลับมาเรียกเก็บผลตอบแทนขั้นต่ำเหมือนเดิม

      ดังนั้นในปีแรกที่คิงเพาเวอร์ เปิดดำเนินธุรกิจ ใน ปี65 ทอท.จะเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) และจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง โดยในปี 64 ให้อิงจากเอกสารการประมูล ให้นำค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่บริษัทใช้ยื่นข้อเสนอในปีแรก หารด้วยจำนวนผู้โดยสารตามประมาณการของบริษัทในปี 64 เพื่อคำนวณหา Sharing Per Head และนำมูลค่าที่ได้มาคูณกับจำนวนผู้โดยสารจริงของ ทอท. ในปีนั้นๆ

     งานนี้ คิงเพาเวอร์ เลยต่อได้ต่อลมหายใจแบบโล่งใจไปโข อย่างน้อยก็มีแต้มต่อในการฝ่าวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น  ขณะที่อีกหลายคนก็คงมีคำถามว่า ทอท. ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ในการชดเชยให้คิงเพาเวอร์ จากผลกระทบโควิด-19 แล้วหรือ

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563