ท่ามกลางวิกฤติ โควิด-19 สายการบินเอกชนสัญชาติไทย ต่างดิ้นรน ดาวน์ไซซ์องค์กร เพื่อประคองตัว ซึ่งในปีนี้เกือบทุกสายการบินมีปริมาณเที่ยวบินหดตัวลงอย่างมาก หากเทียบกับปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส มีเพียง “ไทยเวียตเจ็ท” ที่ยังคงขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังเดินหน้ารับสมัครพนักงานเพิ่ม และที่ผ่านมาพนักงานยังคงได้รับเงินเดือนในอัตราเดิม
ก่อนหน้าโควิด-19 สายการบิน ไทยเวียตเจ็ท ทำการบินอยู่เพียง 8 เส้นทาง โดยใช้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นศูนย์กลางการบิน ซึ่งทำการบินในประเทศเพียง 5 เส้นทาง คือ ภูเก็ต, เชียงใหม่, กระบี่, เชียงราย, อุดรธานี และเส้นทางบินระหว่างประเทศ คือ เส้นทางไปยังไทเป (ไต้หวัน) และเส้นทางไปยังดานัง,ดาลัด (ประเทศเวียดนาม)
แต่หลังจากเกิดโควิด ไทยเวียตเจ็ท ได้หยุดทำการบินเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังคงทำการบิน 5 เส้นทางในประเทศเหมือนเดิม แต่ลดปริมาณความถี่ของเที่ยวบินให้สอดรับกับความต้องการในการเดินทางในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ แต่หลังจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์และสนับสนุนให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศ ไทยเวียดเจ็ท ได้ทยอยเปิดจุดบินใหม่เติมอย่างต่อเนื่อง
จากก่อนโควิดที่มีเที่ยวบินในประเทศอยู่ 5 จุดบิน รวมความถี่ราว 35 เที่ยวบินต่อวัน ปัจจุบันเปิดจุดบินเพิ่มเป็น 13 เส้นทาง โดยทำการบินจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังจังหวัดต่างๆ 11 เส้นทางบิน อาทิ เชียงใหม่, เชียงราย, ขอนแก่น, อุดรธานี,อุบลราชธานี, หาดใหญ่, กระบี่, ภูเก็ต, นครศรีธรรมราช รวมถึงเส้นทางบินข้ามภูมิภาค อีก 2 เส้นทางเช่น เชียงราย-ภูเก็ต,เชียงราย-อุดรธานี รวมความถี่ 50 เที่ยวบินต่อวัน
นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดอีก 2 เส้นทางบินใหม่ในช่วงปลายปีนี้ คือ เส้นทางสุวรรณภูมิ-สุราษฎร์ธานี และเส้นทางเชียงราย-หาดใหญ่ อย่างไรก็ตามการขยายจุดบินใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ล่าสุดไทยเวียตเจ็ท ได้ประกาศรับสมัครพนักงานภาคพื้น ประจำสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 26-28 สิงหาคม2563 โดยรับสมัครพนักงานจำนวน 120 อัตรา แต่มีคนเข้าคิวสมัครงานเฉลี่ยราววันละ 400 กว่าคน
อีกทั้งสายการบินยังมีแผนปรับการใช้ฝูงบินใหม่หลังโควิด โดยเตรียมเช่าเครื่องบินเพิ่มขึ้นอีก 4 ลำ จากบริษัทแม่ คือ เวียตเจ็ท แอร์ (เวียดนาม) เพื่อนำมาขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นในไทยด้วย โดยปัจจุบันสายการบินมีเครื่องบินทั้งหมด 11 ลำ เป็นแอร์บัสเอ 320 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัสเอ 321 จำนวน 5 ลำ
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการสายการบิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไทยเวียตเจ็ท เป็นสายการบินเดียว ที่ในปีนี้มีการขยายเครือข่ายในไทย เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อทำการบินในเส้นทางต่างประเทศไม่ได้ การใช้งานเครื่องบินก็สามารถนำมาใช้งานได้เพิ่มขึ้น เมื่อนำมาบินในประเทศ เพราะระยะเวลาบินที่สั้นกว่า ทำความถี่ได้มากกว่า ประกอบกับหลายสายการบินมีการลดจุดบินลงไป ก็เป็นโอกาสที่ไทยเวียตเจ็ท จะเข้ามาขยายเครือข่าย และที่ผ่านมา สายการบินก็ปรับแผนหันมาให้บริการขนคาร์โก้ ไปยังต่างประเทศ เพื่อประคองตัว
ทั้งนี้การที่ไทยเวียตเจ็ท กระทบน้อยกว่าสายการบินอื่น มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ไทยเวียตเจ็ท เพิ่งเปิดทำการบินในปี59 ทำให้ไม่ได้แบกภาระการขาดทุนมากกว่าสายการบินอื่น อีกทั้งบริษัทแม่ คือ เวียตเจ็ท แอร์ เวียดนาม ซึ่งเจ้าของ คือ ธนาคารเอชดีแบงก์ (HDBank) และนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเวียดนาม ที่พร้อมสนับสนุนไทยเวียตเจ็ท เนื่องจากไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจของสายการบินเวียตเจ็ท ของบริษัทแม่ที่เวียดนาม ที่ผ่านมาไม่นับปีที่เกิดโควิด ก็มีกำไรต่อเนื่อง
2. ไทยเวียตเจ็ท มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจตํ่ากว่าสายอื่น คือ มีพนักงานราว 700-800 กว่าคนเท่านั้น มีการใช้เครื่องบิน 2 รุ่น มีจำนวนที่นั่งต่างกัน คือ 230 ที่นั่ง และ180 ที่นั่ง ทำให้มีการบริหารจัดการการใช้งานที่ยืดหยุ่น กับความต้องการในการเดินทาง
ไทยเวียตเจ็ท เป็นสายการบินเดียวของไทย ที่จัดว่าได้รับผลกระทบน้อยที่สุดหากเทียบกับสายการบินอื่น นกสกู๊ต เลิกกิจการไปแล้ว นกแอร์เข้าสู่กระบวนการฟิ้นฟูกิจการ บางกอกแอร์เวย์ส ลดต้นทน คืนเครื่องบิน เปิดโครงการสมัครใจลาออก เปิดโครงการลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างถึงเดือนธันวาคมปีหน้า ไทยไลอ้อนแอร์ คืนเครื่องบินจาก 35 ลำ เหลือ 11 ลำ ทยอยเลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 500 คน ในการประกาศเลิกจ้าง 3 ครั้งที่ผ่านมา
ขณะที่สายการบินในกลุ่ม แอร์เอเชีย และ ไทยสมายล์ ลดเงินเดือนผู้บริหาร และเปิดโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนสำหรับพนักงาน แม้ ไทยเวียตเจ็ท อาจจะมีผลกระทบน้อยกว่าสายการบินอื่น แต่ในวิกฤตโควิด การขอสนับสนุนซอฟต์โลนจากรัฐบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญในการพยุงสภาพคล่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็รับปากว่าจะไปช่วยดูให้ ในเดือนตุลาคมนี้ โดยทั้ง 7 สายการบินของไทย ยื่นขอซอฟต์โลน วงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบิน ไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า จากการเข้าหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี ทาง ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศ 7 สายการบิน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากและมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังไปประสานกับสถาบันการเงินของรัฐในการหาแหล่งเงินกู้ เบื้องต้นสายการบินในประเทศได้หารือกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ไว้เบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะได้เงินกู้ในเดือน ต.ค.นี้
2.ข้อเสนอในเรื่องการต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้่อเพลิงเครื่องบิน ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงการคลังขอกลับไปพิจารณาก่อน
3.ข้อเสนอในเรื่องการลดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของสายการบินในประเทศ เช่น ค่าจอดเครื่องบิน ค่าservice chartและค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอนี้ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลช่วยขยายระยะเวลาลดค่าธรรมเนียมออกไปจนถึงเดือน ธ.ค.ปี 2564 แต่นายกรัฐมนตรีรับปากว่า จะขยายให้จนถึงเดือน มี.ค.2565
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยเวียตเจ็ท จัดตั๋วโปร รับหยุดยาวสงกรานต์ เริ่มต้น 99 บาท
"ไทยเวียตเจ็ท"เสียบแทน"แอร์เอเซีย"เปิดบินตรง"เชียงราย-หาดใหญ่"
ไทยเวียตเจ็ท จัดตั๋วโปรโมชั่นเริ่มต้นที่ 5 บาท จองด่วน 5 วันเท่านั้น
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 สิงหาคม-2 กันยายน พ.ศ.2563