การดำเนินงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ นับจากวันที่ 14 กันยายน 2563 ซึ่งระหว่างนี้อีก 3 เดือน คณะผู้ทำ แผนฟื้นฟู จะจัดทำรายละเอียดของแผน เพื่อเสนอศาลล้มละลายกลางอีกครั้ง เพื่อขอให้ศาลฯเห็นชอบและให้คณะผู้ทำแผน เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูต่อไป เพื่อเข้าสู่การเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลดทุน เพิ่มทุน ลดขนาดฝูงบิน และองค์กรเพื่อรีสตาร์ตธุรกิจตามแผนธุรกิจใหม่
โดยคาดว่าจะแต่งตั้งผู้บริหารแผนภายในไตรมาส 1 ปี 2564 เพื่อให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบัน การบินไทย มีทรัพย์สินอยู่ที่ 349,236 ล้านบาท มีหนี้สิน 352,494 ล้านบาท และมีหนี้ครบชำระ 10,248 ล้านบาท
ดังนั้นในระหว่างนี้นอกจากคณะผู้ทำแผน จะจัดทำรายละเอียดของแผนฟื้นฟู เตรียมเสนอต่อศาล และขอบริหารแผนฟื้นฟูแล้ว การบริหารงานในการบินไทยเอง ขณะนี้ทางฝ่ายบริหารในแต่ละด้าน ก็มี แผนการสร้างทางรอดขององค์กรในอีก 3-5 เดือนนี้ หรือ แผนในแบบ Top Down ซึ่งหลักๆจะเป็นเรื่องของการลดรายจ่ายและการหารายได้เพิ่ม
อีกทั้งนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ยังขอความร่วมมือพนักงาน ให้ช่วยกันเขียน แนวทางการหารายได้ การลดรายจ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เสนอแต่ฝ่ายบริหารในแต่ละสายงาน ภายในวันที่ 25 กันยายน เพื่อเสนอความเห็นในลักษณะ Bottom up ด้วยเช่นกัน เพื่อยืดกระแสเงินสดออกไปให้อยู่ได้นานที่สุด
เพราะหากการบินไทย ไม่ทำอะไรเลย จากประมาณการกระแสเงินสดล่าสุด (ณ เดือนสิงหาคม 2563) คาดว่าจะเหลือถึงเดือนธันวาคม2563 โดยเรื่องเร่งด่วน คือ การขอความร่วมมือพนักงานในการช่วยลดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นอีก
เนื่องจากสถานะการเงินของการบินไทย ณ เดือนสิงหาคม 2563 บริษัทมีรายได้และรายจ่าย ติดลบ 2 พันล้านบาทต่อเดือน ดีดี จึงขอความร่วมมือให้พนักงานเข้าร่วมโครงการ Together We Can (สมัครใจลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน) เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครบ100% จากปัจจุบันที่มีพนักงาน 14,641 คนเข้าร่วมโครงการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 73.6% จากที่ยังขาดอยู่ราว 22% จากพนักงานที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวน 4,333 คน
ขณะที่ฝ่ายบริหารแต่ละด้าน ในขณะนี้ต่างก็เดินหน้าตามแผนสร้างทางรอดองค์กร โดยฝ่าย สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน (DY) จะดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัท เพื่อนำมาสร้างรายได้ ทั้งการขายหรือให้เช่าเครื่องบิน และขายเครื่องยนต์อะไหล่และพัสดุอากาศยาน, การให้เช่าอสังหา ริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น การให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)เช่าอาคารลูกเรือ สำนักงานหลักสี่ ให้กลต.เช่า อาคาร 3 ชั้น 6-8 บริหารจัดการพื้นที่ว่างหลังอาคาร 9 สำหรับผู้สนใจในการพัฒนาพื้นที่ระยะยาว และการขายหุ้นในบริษัทร่วมลงทุน
รวมถึงการหารายได้จากครัวการบินไทย ทั้งการเปิด ภัตตาคารการบินไทย ในธีม inflight service Pop-Up Dining Experience ภายใต้โครงการ อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้ ทั้งที่สำนักงานใหญ่, สำนักงานสีลม ที่มีเมนูไฮไลท์ ปาทองโก๋,สำนักงานหลานหลวง, ภูเก็ต, เชียงใหม่ การขยายตลาดอาหารและเบเกอร์รี่ โดยร่วมมือกับพันธมิตร เช่น อะเมซอน,อินทนินท์,อโรมา หรือ 7-11 เป็นต้น
ด้าน ฝ่ายการเงิน และการบัญชี (DE) มีจุดโฟกัสใน 3 เรื่อง คือ การแก้ปัญหากระแสเงินสด,หารายได้เพิ่มทุกวิถีทาง,พนักงานทุกคนร่วมกันลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด เช่น การเตรียมแผนลดขนาดฝูงบินและขนาดองค์กร เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็ว คล่องตัว เพิ่มสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับธุรกิจใหม่ การทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ,ไอที, ทัศนคติ กับพนักงานทุกคน, สภาพการจ้างงานใหม่สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ใหม่ เป็นต้น
ขณะที่ สายการพาณิชย์ (DN) จะเน้นการจัดการเจ้าหน้า คู่ค้า และลูกค้า โดยตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-20 ส.ค.2563 ได้ปรับลดมูลหนี้ และลดจำนวนเจ้าหนี้โดยการเปลี่ยนแปลงจากการขอคืนบัตรโดยสารเป็นการเปลี่ยนเป็นบัตรแทนเงินสด (ทราเวล เวาเชอร์) จำนวน 1.37 ฉบับลดมูลหนี้ได้ 133.5 ล้านบาท การยกเลิกระบบสถิติวิเคราะห์ตลาด ประหยัดได้ 8 ล้านบาทต่อเดือน จัดการระบบการจัดจำหน่ายทั่วโลก คาดประหยัดได้ 6.9 ล้านบาท
การยกเลิกค่าส่วนแบ่งการขาย (0 % มาร์เก็ต คอมมิชั่น) คาดประหยัด 882 ล้านบาท ประกาศให้พนักงานผู้จัดการประจำสาขาต่างประเทศกลับไทย จากการระบาดโควิด-19 ประหยัดได้ 198.3 ล้านบาทต่อเดือน
อีกทั้งจากนี้สายการพาณิชย์ยังมีแผนดำเนินการในสเต็ปต่อไป คือ 1. การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน อาทิ การรีสตาร์ทเที่ยวบิน,การเปิดขายอีลิท การ์ด 2.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ดาวน์ไซซ์สำนักงานต่างประเทศและต่างจังหวัด,การโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น 3.พัฒนาระบบดิจิตอล แพลตฟอร์ม ,การทำการตลาดดิจิทัล เช่น ใช้ระบบการปรับเปลี่ยนวัน/เวลาเดินทางได้เองผ่านอินเทอร์เน็ต คาดว่าจะสร้างรายได้ 212 ล้านบาท
รวมไปถึงการเปิดบริการชั้นพรีเมี่ยม อีโคโนมี,ร่วมมือกับโรงแรมระดับ4-5 ดาวและโรงพยาบาล ทำแพ็คเกจเจาะกลุ่มเฮลธ์แอนด์เวลเนส การร่วมกับบัตรเครดิตทั้งในไทยและต่างประเทศ จัดทำโปรแกรม บินก่อน จ่ายทีหลัง ผ่อน 0% ไม่มีดอกเบี้ย
ส่วน สายปฏิบัติการบิน (DO) ในช่วงนี้ก้มีโครงการ THAI Flying Experience & Beyond เปิดให้คทั่วไปหาประสบการบิน จากห้องจำลองการบิน(ซีมูเลเตอร์) เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย โยกย้ายผู้บริหาร-พนักงาน กราวรูด 23 ตำแหน่ง
ภัตตาคาร “การบินไทย” สีลม สุดฮ้อต “ปาท่องโก๋” กับ "สังขยา"เจ้าจำปี
การบินไทย ประกาศ ลดเงินเดือนสูงสุด70%-ลาไม่รับค่าจ้าง ถึงธ.ค.นี้
การบินไทย เปิดขายแพ็คเกจขับเครื่องบินในซีมูเลเตอร์เพิ่มรายได้
การบินไทย เปิด 4 พื้นที่ให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้
ภัตตาคาร "การบินไทย" Inflight servicePop-Up Dining แห่งแรกของโลก