ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจการบินของไทย มีอัตราการเติบโตในการขนส่งผู้โดยสาร เฉลี่ยอยู่ที่ 11.38% ต่อปี จาก 63 ล้านคนในปี2553 ขยับมาเป็น 165 ล้านคนในปี2562 โดยเป็นการเติบโตของผู้โดยสารระหว่างประเทศเฉลี่ย 10.77% ต่อปี และเที่ยวบินภายในประเทศ เฉลี่ย 12.13 % ต่อปี
แต่จากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้หลายสายการบิน ยิ่งบินมาก ยิ่งขาดทุน และในปีที่ผ่านมาสายการบินแทบไม่มีกำไร ที่พอมีกำไรอยู่บ้าง ก็มีกำไรจากธุรกิจอื่น ไม่ใช่กำไรจากการประกอบการสายการบิน และในปี2563 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจสายการบินที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่กำลังจะเข้าขั้นโคม่า หากยังไร้มาตรการซอฟต์โลนจากรัฐบาล เข้ามาคอยปั้มหัวใจ
ต้องตุนสภาพคล่องให้ได้ถึงปี66
เนื่องจากวิกฤตนี้จะยังอยู่อีกนานกว่าจะกลับมาฟื้นตัวเหมือนเดิม โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) คาดการณ์ไว้ว่า กรณี Base Case หากมีการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัด และสามารถพัฒนาวัคซีน ได้สำเร็จในช่วงกลางปี64 กว่าไทยจะกลับมามีปริมาณผู้โดยสาร เหมือนเมื่อปี2562 ก็น่าจะเป็นช่วงปี2566
โดยคาดว่าผู้โดยสารจะขยับขึ้นจาก 52.8 ล้านคนในปี 2563 ขึ้นมาเป็น 174 ล้านคนในปี2566 จากนั้นจะเริ่มกลับสู่ภาวะการเติบโตตามสถานการณ์ปกติในปี67 ซึ่งคาดว่ามีผู้โดยสารเพิ่มมาเป็น 210 ล้านคน และในปี 68 เพิ่มมาเป็น 240 ล้านคน
อีกทั้งจากการประมาณการ ยังคาดว่าสถานการณ์ในปีนี้จะหนักหนาสาหัสที่สุด สำหรับธุรกิจการบิน โดย กพท.คาดว่าจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 52 ล้านคน ลดลง112.2 ล้านคน หรือลดลง 68% เมื่อเทียบกับปี2562 โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารระหว่างเพียง 16.1 ล้านคน และเป็นผู้โดยสารในประเทศราว 36.7 ล้านคน
อีกทั้งจากดีมานต์การเดินทางที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการสร้างรายได้ สายการบินสัญชาติไทย อย่างมีนัยสำคัญ โดยรายได้จะผันผวนสัมพันธ์ไปกับการระยะเวลาในการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสาร
ในปี2563 คาดว่ารายได้ทั้ง 8 สายการบิน ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ คือ ไทยแอร์เอเชีย,นกแอร์,ไทย ไลอ้อนแอร์,บางกอก แอร์เวย์ส,การบินไทย,ไทยสมายล์,ไทยเวียตเจ็ทและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ คาดว่าจะอยู่ที่ 8.14 หมื่นล้านบาท ปรับลดลง 73% หรือหายไปกว่า 2.26 แสนล้านบาท จากปี2562 ที่ธุรกิจสายการบินของไทยมีรายได้อยู่ที่ 3.08 แสนล้านบาท
ส่วน ในปี64 ประมาณรายได้สายการบิน จะขึ้นมาเป็น 1.63 แสนล้านบาท ปี65 คาดว่า 2.71 แสนล้านบาท ปี66 จะกลับมาใกล้เคียงปี62 คือคาดว่าจะอยู่ที่ 3.03 แสนล้านบาท และจะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ใน ปี67 คาดไว้ที่ 3.79 แสนล้านบาท และปี68 คาดไว้ที่ 4.39 แสนล้านบาท
จากการประมาณการรายได้ของสายการบินที่จะหดตัวเป็นเวลาร่วม 4 ปี ดังนั้นสายการบินที่มีการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ดีเท่านั้น จึงจะอยู่รอดได้ในระยะยาว ซึ่งวันนี้ทั้งการบินไทย และนกแอร์ ก็เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อพักการชำระหนี้ และเดินแผนฟื้นฟูธุรกิจ ทุกสายการบินต่างๆล้วนเดินหน้าดาวน์ไซส์ธุรกิจ เช่นไทยไลอ้อนแอร์ และล่าสุดได้คืนเครื่องบินจาก 35 ลำ เหลือ 11 ลำ การลดต้นทุนบุคคลากรอย่างต่อเนื่องด้วย
ขอความชัดเจนซอฟต์โลน
ขณะเดียวกันทั้ง 7 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ ไทยเวียตเจ็ท (ยกเว้นนกสกู๊ตที่ปิดกิจการไปแล้วเมื่อเดือนมิ.ย.63) ยังคงตั้งความหวังที่จะได้ ซอฟต์โลน มาต่อลมหายใจ ซึ่งมีการร้องขอการสนับสนุนจากรัฐบาล 2.4 หมื่นล้านบาท มาตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 จนเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาแล้วถึง 3 คน จนล่าสุดเป็นนาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ แต่ก็ยังไม่ข้อสรุป แม้ว่าก่อนหน้านี้สายการบินต่างๆจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
แหล่งข่าวระดับสูงจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าให้สายการบินว่า อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เพราะหากต้องช่วยเหลือสายการบินต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ เนื่องจากจะมีกลุ่มที่ได้รับประโยชน์อยู่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น
ขณะเดียวกันยังติดปัญหาเรื่องกฏเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อ ที่สายการบินส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินเช่า ขณะที่ศักยภาพในการสร้างรายได้ ก็สะดุดจากโควิด ธนาคารไม่มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าจะช่วยจริงๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องผ่อนคลายกฏกติกาลง
ต่อเรื่องนี้นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เผยว่า ต้องการขอความชัดเจนว่าตกลงแล้ว สายการบินจะได้รับซอฟต์โลนหรือไม่ ถ้าไม่ให้ก็ขอให้บอก สายการบินจะได้ทำตัวถูกและปรับแผนการทำงานกันได้ โดยล่าสุดจากการหารือกับหอการค้าไทย ก็จะมีการนำเสนอเรื่องของซอฟต์โลนสายการบินเข้าเป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วน เพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่
“จริงๆแล้วซอฟต์โลนวันนี้เป็นสิ่งที่สายการบินต้องการมากแล้ว ถ้ารัฐไม่ช่วย ก็คงจะเห็นสายการบินที่ไปต่อไม่ไหวต้องล้มหายตายจากไป ส่วนการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทวีซ่าพิเศษ หรือ Special Tourist VISA (STV) แบบจำกัดจำนวนเข้าไทย ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จำกัด ก็ไม่ได้ช่วยสายการบินได้มากนัก คงต้องรอในปีหน้า”
นายธรรศพลฐ์ ยังกล่าวต่อว่าวันนี้สายการบินต่างๆก็บริหารจัดการต้นทุนตัวเองอย่างเต็มที่ ในส่วนของไทยแอร์เอเชีย เรายังสามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศได้ โดยปัจจุบันทำการบินโดยใช้เครื่องบินได้ 30 ลำ จากฝูงบินทั้งหมดที่มีอยู่ 62 ลำ เฉลี่ยกลับมาทำการบินได้ราว 50% จากที่จอดอยู่ 30 ลำ
ขณะที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะลำบากกว่า เพราะยังไม่สามารถบินต่างประเทศได้ แต่ยังดีที่ผู้ให้เช่าเครื่องบินเข้าใจสถานการณ์ ให้หยุดพักการจ่ายค่าเช่าได้ แต่ทั้ง 2 สายการบินก็ยังคงต้องลดค่าใช้จ่าย ด้วยการจ่ายเงินเดือนพนักงานเฉลี่ยอยู่ที่ 25-30% และขอความร่วมมือจากพนักงานให้ช่วยลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without Pay)
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,616 วันที่ 8-10 ตุลาคม พ.ศ.2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ทอท.” คาดเที่ยวบินจะฟื้นตัวเท่าปี62 ต้องรอถึงปี65
ซอฟต์โลน8แอร์ไลน์ยังไม่ได้ข้อสรุป