ปัจจุบัน การบินไทย อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของ แผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเตรียมยื่นเสนอต่อศาลล้มละลาย ช่วงปลายไตรมาส4 ปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า เพื่อรอแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมราว 5-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลัง, กองทุนวายุภักษ์ จะเข้ามาเพิ่มทุนและกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เข้ามาดำเนินธุรกิจในช่วงฟื้นฟูกิจการ
วาง 3 แนวทางฟื้นฟู
โดยแผนฟื้นฟูจะมีข้อสรุปก่อนธันวาคมนี้ เนื่องจากการบินไทย อยู่ระหว่างการเตรียมแผนระยะต่อไป เพื่อดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ที่จะเน้นเรื่องการปรับขนาดองค์กรให้เหมาะกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยปรับลดขนาดฝูงบิน รวมถึง Fleet Plan & Structure ให้สอดคล้องกับดีมานต์ของผู้โดยสาร, การแยกหน่วยธุรกิจ ด้านซ่อมบำรุง,ครัวการบินไทย
รวมไปถึงการปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาเจ้าหนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งหลังจากวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ก็จะดำเนินการจัดชั้นหนี้ต่อไป เสนอแผนฟื้นฟูแก่ศาล ถ้าแผนผ่าน ก็จะดำเนินการเรื่องโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทุน แต่กว่าจะถึงวันนี้การบินไทยต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อรักษากระแสเงินสดให้ได้ถึงเดือนมีนาคมปี2564 และการนำเทคโนโลยีมาใช้ บิ๊กดาต้า และพัฒนาระบบดิจิทัล แพลตฟอร์ม
2.การเพิ่มรายได้ โดยเน้นเรื่องการบริหารสินทรัพย์ โดยให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)เช่าอาคารลูกเรือ สำนักงานหลักสี่ ให้กลต.เช่า อาคาร 3 ชั้น 6-8 บริหารจัดการพื้นที่ว่างหลังอาคาร 9 สำหรับผู้สนใจในการพัฒนาพื้นที่ระยะยาว และการขายหุ้นในบริษัทร่วมลงทุน การปรับปรุงกลยุทธด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การลงทุนในศูนย์ซ่อมอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) และการหารายได้พิเศษ จากครัวการบิน
3. การลดค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดกำลังคนให้เหมาะสมกับงานและโครงสร้างองค์กรใหม่ การทบทวนผลตอบแทนพนักงาน(สวัสดิการ/สิทธิประโยชน์) การบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและต้นทุนในการดำเนินงาน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค คณะกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)และหนึ่งในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับลดขนาดฝูงบิน และการจัดกำลังคน ตามแผนฟื้นฟู ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากจะต้องรอให้ผลศึกษาการ ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ให้แล้วเสร็จเสียก่อน จะได้รู้ถึงตำแหน่งงานที่ชัดเจนที่บริษัทต้องการอย่างแท้จริง จึงจะได้ข้อสรุปว่าจะ ลดจำนวนพนักงาน ลงกี่เปอร์เซ็นต์
เนื่องจากในอดีตการบินไทยมีปัญหาเรื่องของคนล้นงาน ตำแหน่งงานซ้ำซ้อน เราต้องไปจัดโครงสร้างองค์กรให้ชัดเจนก่อน ยังไงก็ต้องมีคนออกแน่ เพราะเราต้องจัดกำลังคนให้เหมาะสมกับโครงการสร้างใหม่ โดยจะต้องได้ข้อสรุปก่อนเดือนธันวาคมนี้ นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย
ขยายสภาพคล่องถึงเม.ย.64
นอกจากนี้ในระหว่างนี้การบินไทยมีความจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องให้อยู่ได้นานที่สุด ปัจจุบันสถานะเงินสดในวันนี้ จะเพียงพอที่จะอยู่ได้ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 จากแผนการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้า,การเปิดเที่ยวพิเศษ นำคนไทยกลับบ้านและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ,การให้ไทยสมายล์ ทำการบินภายในประเทศ,การหารายได้จากครัวการบิน,การให้บริการภาคพื้นแก่สายการบินลูกค้าทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ,การบริหารจัดการทรัพย์สิน เช่น การใช้ประโยชน์จาก Flight Simulator
ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย เช่น การเปิดให้พนักงานสมัครใจลดเงินเดือน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนรายเดือนให้พนักงานในอัตราลดแบบขั้นบันได 10-50%, การระงับการจ่ายค่าพาหนะ ลดค่าทำงานล่วงเวลา ปรับลดพนักงานอัตราจ้างชั่วคราว และชลอการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและด้านความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ
แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มรายได้ดังกล่าว ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะรายได้หลักของการบินไทย คือ การดำเนินธุรกิจการบิน ทำให้บริษัทฯจะต้องเดินหน้าแผนเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม เพื่อประคองกระแสเงินสดให้อยู่ได้ถึงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564
เปิดร่วมใจจาก 16 ต.ค.นี้
โดยจะเปิดโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan:MSP) ซึ่งจะมีการประกาศเงื่อนไขให้พนักงานรับทราบภายในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ที่จะแบ่งจ่ายหรือผ่อนจ่ายระยะยาว ตั้งเป้าหมายการเข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 1-2 พันคน จากจำนวนพนักงานทั้งหมดกว่า 1.9 หมื่นคน โดยจ่ายผลตอบแทนจำนวน 2-14.33 เดือน ตามกฏหมาย บวกอีก 1 เดือน โดยจะทยอยจ่ายเป็นงวดๆทุกเดือน เริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนมกราคม2564
รวมไปถึงเปิด โครงการ “ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร” ที่จะขยายเงื่อนไขของโครงการ Togerther we can ไปอีก 6 เดือน (1พ.ย.63-30 เม.ย.64)
การหารายได้เพิ่ม อย่าง การเปิดให้บริการที่นั่งใหม่ THAI ECONOMY PLUS หรือ ชั้นประหยัด พลัส ซึ่งจะเป็นที่นั่งชั้นประหยัด 4 แถวแรก แบบที่เว้นที่
การให้ ไทยสมายล์ ขยายจุดบินใหม่ภายในประเทศอีก 4 เส้นทางช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ อาทิ เส้นทางบินจากกรุงเทพฯสู่น่าน, นครพนม, เส้นทางข้ามภาคจากนครศรีธรรมราชสู่เชียงใหม่,อุดรธานี เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มบริษัทในเครือการบินไทย การขายแฟรนไชส์ ปาท่องโก๋ การบินไทย การร่วมมือกับพันธมิตร เช่น Amazon, Intanin, Aroma หรือ 7-11 ขายตลาดอาหารและเบเกอรี่ เป็นต้น
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3618 วันที่ 15-17 ตุลาคม 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย ผุด 2แพ็กเกจ เปิดเออรี่รีไทร์ ร่วมใจจากองค์กร กลางต.ค.นี้
สหภาพการบินไทย จี้ "ชาญศิลป์" ทบทวนตั้งภรรยาประธานบอร์ดแก้วิกฤตศรัทธา
สหภาพฯการบินไทยกลับมาแล้ว นัดพนักงานแต่งดำ ค้าน "ชาญศิลป์"
"การบินไทย" หนุน "ไทยสมายล์" บุกบินในประเทศรุกเปิด 4 จุดบินใหม่
ปาท่องโก๋ การบินไทย จ่อขายแฟรนไชส์ ขยายการผลิตเพิ่ม