"การบินไทย"เออรี่รีไทร์ ลดรายจ่ายได้ 300 ล้านต่อเดือน ปีหน้าพนักงานเหลือ1.57หมื่นคน

31 ต.ค. 2563 | 03:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2563 | 09:32 น.

การบินไทย ยืดสภาพคล่องได้ไปถึงเดือนเมษายนปี 2564 หลังพนักงานเฉียด5 พันคนตบเท้าร่วมโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เผยเป็นการลายาว 6 เดือน 2.69 พันคน เออรี่รีไทร์ 2.27 พันคนรวม 2 ล็อต ในช่วง 1 ธ.ค.ปีนี้ กับพ.ค.ปีหน้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ราว 300 ล้านบาทต่อเดือน คาดปีหน้าเหลือพนักงาน1.5หมื่นคนก่อนปรับโครงสร้างองค์กรตามแผนฟื้นฟูกิจการ

            การบินไทย ยืดสภาพคล่องได้ไปถึงเดือนเมษายนปี 2564 หลังพนักงานเฉียด5 พันคนตบเท้าร่วมโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เผยเป็นการลายาว 6 เดือน 2.69 พันคน จ่ายเงินเดือน 20% เออรี่รีไทร์ 2.27 พันคนรวม 2 ล็อต ในช่วง 1 ธ.ค.ปีนี้ กับพ.ค.ปีหน้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ราว 300 ล้านบาทต่อเดือน คาดปีหน้าจำนวนพนักงานจะเหลืออยู่ 1.57 หมื่นคน ก่อนปรับโครงสร้างองค์กรตามแผนฟื้นฟู  “ชาญศิลป์” รับได้รับความร่วมมือใกล้เคียงเป้าหมาย รุดวางแผนจ่ายชดเชย ให้สอดคล้องกระแสเงินสดในมือ
            ปัจจุบันบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ ทำให้บริษัทไม่มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจการบิน ในขณะที่ยังคงมีรายจ่ายมาก โดยเฉพาะ รายจ่ายด้านเงินเดือนพนักงาน ปกติจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมถึงเมื่อไม่มีบิน ก็ไม่มีค่าล่วงเวลาเกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร ก็ลดลงเหลือ 1,600 ล้านบาทต่อเดือน แต่ก็ยังไม่พอ
            อีกทั้งแม้ที่ผ่านมา การบินไทยจะออกมาตรการหลายระลอก เพื่อขอความร่วมมือในการลดเงินเดือนตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ต่อเนื่องมาถึงโครงการ Together We Can ซึ่งมีพนักงานเข้าร่วมโครงการจำนวน 80% ซึ่งก็ลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรลงไปได้อีก 500 ล้านบาทต่อเดือน เหลืออยู่ที่ 1,100 ล้านบาทต่อเดือน

\"การบินไทย\"เออรี่รีไทร์ ลดรายจ่ายได้ 300 ล้านต่อเดือน ปีหน้าพนักงานเหลือ1.57หมื่นคน

         รวมถึงการหารายได้เสริมต่างๆที่เกิดขึ้น อาทิ การให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ หารายได้จากครัวการบิน ก็มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ติดลบอยู่ราว 2 พันล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากรายได้กว่า 90% ของการบินไทย มาจากการดำเนินธุรกิจการบิน ส่งผลให้กระแสเงินสดที่บริษัทมีอยู่ ณ ขณะนี้จะอยู่ได้ถึงเดือนธันวาคม2563 ซึ่งอาจจะมีไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทสามารถจ่ายเงินเดือนพนักงานไปจนถึงเวลาที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลล้มละกลางจะให้ความเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูกิจการ

++ลดค่าใช้จ่ายได้300ล.ต่อเดือน

            ทำให้ล่าสุดการบินไทย ได้เปิด “โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563” เพื่อยืดสภาพคล่องให้อยู่ได้ถึงสิ้นเดือนเมษายนปี2564 โดยหลังจากเปิดให้พนักงาน มายื่นความจำนงใน “โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563” ตั้งแต่วันที่ 19-28 ตุลาคมที่ผ่านมา ใน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan A (MAP A) และ 2. โครงการลาระยะยาว (LW20) ซึ่งพนักงานที่ร่วมโครงการนี้จะมีสิทธิร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (MAP B)

            โดยหลังจากเปิดให้พนักงาน มายื่นความจำนงใน ตั้งแต่วันที่ 19-28 ตุลาคมที่ผ่านมา ใน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan A (MAP A) และ 2. โครงการลาระยะยาว (LW20) ซึ่งพนักงานที่ร่วมโครงการนี้จะมีสิทธิร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (MAP B) พบว่ามีพนักงาน จำนวน 4,977 คน แสดงความจำนงค์เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จากจำนวนพนักงาน 7,050 คนที่คลิ๊กเข้ามาในระบบ

\"การบินไทย\"เออรี่รีไทร์ ลดรายจ่ายได้ 300 ล้านต่อเดือน ปีหน้าพนักงานเหลือ1.57หมื่นคน

            ทั้งนี้พนักงานจำนวน 4,977 คนที่แสดงความจำนงค์เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เลือกเข้าร่วมโครงการลาระยะยาว (LW20) เป็นเวลา 6 เดือน (วันที่ 1 พฤศจิกายน2563-30 เมษายน2564) จำนวน 2,699 คน ตามมาด้วยโครงการร่วมใจจากองค์กร(MAP A) จำนวน 1,918 คน และโครงการลาระยะยาว (LW20) ซึ่งพนักงานที่ร่วมโครงการนี้จะมีสิทธิร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan B (MAP B) มีจำนวน 360 คน ซึ่งตามจำนวนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ น่าจะลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกราว 300 ล้านบาทต่อเดือน หรือการบินไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านพนักงานอยู่ที่ราว 800 ล้านบาทต่อเดือน

++เออรี่รีไทร์ 2.27 พันคน     

         ดังนั้นนับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน2563-30 เมษายน2564 พนักงานที่เข้าร่วมโครงการลาระยะยาว(LW20) จำนวน 2,699 คน จะได้รับเงินเดือนรายเดือนตลอดระยะเวลาลาในอัตราร้อยละ20 ของเงินเดือนสุดท้าย หรือของเงินเดือนเดิมของพนักงานก่อนการปรับลด
          ขณะที่พนักงานที่ยื่นสมัครใจลาออกในโครงการร่วมใจจากองค์กร( MAP A) และ(MAP B) หรือ เออรี่รีไทร์ รวมแล้วจะอยู่ที่ 2,278 พันคน  จากจำนวนพนักงานการบินไทยจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1.9 หมื่นคน หลังจากมีเกษียณอายุในปีนี้ 491 คน และในปีหน้าจะมีพนักงานเกษียณอีกราว 550 คน เบ็ดเสร็จในปีหน้าจำนวนพนักงานของการบินไทยก็คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.57 หมื่นคน ก่อนปรับโครงสร้างองค์กรตามแผนฟื้นฟูกิจการ

            สำหรับพนักงานที่เข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร (MAP A) จำนวน 1,918 คน พนักงานที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าโครงการนี้ การลาออกจะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ได้รับค่าชดเชยสูงสุด 14.33 เดือน โดยเป็นเงินค่าตอบแทนตามค่าชดเชยตามกฏหมายแรงงาน บวกเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีก 1 เดือนของเงินเดือนสุดท้ายของพนักงาน

            สำหรับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร(MAP B)จำนวน 360 คน (ให้สิทธิเฉพาะพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการลาหยุดยาว LW20) จะได้รับค่าชดเชยสูงสุด 17.33 เดือน โดยเป็นเงินค่าตอบแทนตามค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน บวกเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมอีก 4 เดือนของเงินเดือนสุดท้ายของพนักงาน การลาออกของพนักงานที่ยื่น(MAP B) การลาออกจะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งจะออกประกาศอีกครั้งในราวเดือนมีนาคม2564 หลังจากศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ และบริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กรและสภาพการจ้างแล้ว

            อย่างไรก็ตามการบินไทยต้องรอให้ศาลฯความเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูกิจการก่อน จึงจะดำเนินการจัดหาแหล่งเงินราว5-8 หมื่นล้านบาทเพื่อมาใช้ฟื้นฟูกิจการ เพิ่มสภาพคล่อง และจ่ายชดเชยพนักงานที่เข้าร่วมโครงการเออร์รี่รีไทร์ โดยจะแบ่งจ่ายค่าชดเชยเป็นรายเดือนจำนวน 12 งวดในอัตราเท่ากัน จ่ายงวดแรกภายในเดือนมิถุนายน 2564 และจะจ่ายงวดต่อไปภายในวันที่ 27 ของแต่ละเดือน

++ยืดสภาพคล่องได้ถึงเมย.นี้

            นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการเปิดรับสมัครโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร พ.ศ.2563 เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดของบริษัทให้สามารถใช้ได้ถึงเดือนเม.ย. 2564 ซึ่งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัคร เมื่อวันที่ 28ต.ค. ที่ผ่านมามีพนักงานให้ความสนใจและร่วมกันเสียสละเข้าร่วมโครงการนี้ 4,977 คน โดยเป็นการร่วมใจจากองค์กร (MSP A) จำนวน 1,918 คน  โครงการลาระยะยาว (LW20) จำนวน 2,699 คน และเข้าร่วมทั้ง 2 โครงการ ( LW20&MSP A) จำนวน 360 คน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท และต้องขอบคุณพนักงานทุกคนที่มีจิตอาสาและช่วยกันเสียสละเพื่อองค์กร

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

            อย่างไรก็ตามหลังจากนี้บริษัทจะต้องวางแผนเรื่องของระยะเวลาและการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากขณะนี้มีกระแสเงินสดไม่มาก และไม่สามารถกู้ยืนเงินได้ โดยจะพิจารณาเรื่องการจัดสรรเงินสำหรับพนักงานล็อตแรกก่อน โดยจำนวนพนักงานที่จะออกจะต้องสอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานภาพรวม เพราะบริษัทจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานตามอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมไปถึงการจ่ายคืนเงินกองทุนบำเหน็จที่ต้องจ่ายพร้อมกันทั้งก้อน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

           ที่ผ่านมาบริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนบริษัทฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังมีการจัดเที่ยวบินขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินรับคนไทยจากต่างประเทศกลับบ้าน การหารายได้จากการขายอาหารของฝ่ายครัวการบิน และการขายของที่ระลึก Thai Shop แต่ไม่สามารถเทียบกับรายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร

     บริษัทฯ จึงดำเนินโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้พนักงานร่วมใจเสียสละ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและยืดกระแสเงินสดออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของการบินไทยในการปรับตัวอย่างเข้มข้น เพื่อรองรับแผนฟื้นฟูในอนาคต

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3,623 วันที่ 1-4 พฤศจิกายน2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พนักงานการบินไทย เฉียด 5 พันคน ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เออรี่รีไทร์ 1.91 พันคน
การบินไทย ย้ำเดทไลน์ให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ภายในวันที่ 2 พ.ย.นี้
"การบินไทย" ปรับแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา อีอีซี รื้อเกณฑ์ใหม่
การบินไทย ออกประกาศ เออรี่รีไทร์ จ่ายสูงสุด 17.33 เดือน เปิดให้ยื่น19-28 ต.ค.นี้
เขย่า “การบินไทย” ลดคน-ฝูงบิน