ส่อง!! จม.สภาพัฒน์ ค้านสร้างเทอร์มินัล 2

24 พ.ย. 2563 | 03:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2563 | 11:09 น.

เปิดจดหมายสภาพัฒน์ฉบับที่ 2 ค้านสร้างเทอร์มินัล2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ หลัง ทอท.ดันทุรังสร้าง หวั่นกระทบสภาพคล่อง วอนทอท.เร่งขยายเทอร์มินัล 1 แทนการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์บทความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ถึงเนื้อหาในจดหมายฉบับที่ 2 ของสภาพัฒน์ที่ค้านเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ เป็นอย่างไร และทำไมจึงไม่สามารถเบรก ทอท.ได้ มาติดตามและช่วยกันค้นหาคำตอบ

 

หลังจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์มีมติค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ หรือส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือในสนามบินสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต่อไป แต่ ทอท.ก็ไม่ลดละความพยายาม โดยได้ขอให้สภาพัฒน์พิจารณาใหม่อีกครั้ง ในที่สุดสภาพัฒน์ได้มีมติค้านเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 และได้มีหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อแจ้ง ทอท.ต่อไป แต่ดูเหมือนว่าไม่สามารถหยุดยั้ง ทอท.ได้ ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือยังคงอยู่ในแผนงานก่อสร้างของ ทอท.

เนื้อหาในหนังสือของสภาพัฒน์ฉบับที่ 2 สรุปได้ดังนี้

1. ที่ตั้งของส่วนขยายด้านทิศเหนือจะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกับเทอร์มินัล 1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เช่นรถไฟฟ้าไร้คนขับหรือเอพีเอ็ม และระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เป็นต้น ทำให้ผู้โดยสารจะต้องมีขั้นตอนและระยะเวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก จะไม่มีการลงทุนในระบบดังกล่าว ทำให้วงเงินค่าก่อสร้างต่ำกว่า แต่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีเช่นเดียวกับส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ซึ่ง ทอท.อ้างว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปี

 

2. จากการพิจารณาแนวโน้มฐานะทางการเงินของ ทอท. ระหว่างปี 2563-2576 พบว่าหากมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ทอท.อาจขาดสภาพคล่องทางการเงินระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ทอท.อาจต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาสนามบินอื่น เช่น สนามบินดอนเมือง และสนามบินเชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ ทอท.ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ

 

3. สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้โดยสารทางอากาศลดลงอย่างมาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารทั่วโลกในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 50-60% และจะกลับมามีจำนวนเท่ากับระดับเดิม (ปี 2562) ได้ในปี 2567 ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง การลงทุนพัฒนาจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่เกินจำเป็นในอนาคต ดังนั้น สภาพัฒน์จึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเว้นงานขยายเทอร์มินัล 1 ด้านทิศตะวันออก ซึ่งใช้เงินลงทุนต่ำกว่า แต่ ทอท.ควรเร่งดำเนินงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 เนื่องจากมีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารน้อย เพราะเป็นการดำเนินการในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารชะลอตัว สรุปได้ว่าสภาพัฒน์มีความเห็นให้ ทอท.เร่งขยายเทอร์มินัล 1 แทนการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ

แต่อย่างไรก็ตาม ทอท.ยังคงมุ่งมั่นที่จะก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้ได้ โดยอาจขอให้สภาพัฒน์พิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งผมเห็นว่าคงเป็นเรื่องยากที่สภาพัฒน์จะเปลี่ยนใจหาก ทอท.ไม่สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลพร้อมด้วยรายการคำนวณและแบบจำลองเสมือนจริง (Simulation) ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือดีกว่าการขยายเทอรมินัล 1 จริง และสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนจริง คงไม่มีใครสั่งสภาพัฒน์ได้ แต่เหตุใด ทอท.จึงไม่ยอมแพ้ มีอะไรดีหนอ ใครบอกได้บ้าง?

 

ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสนามบินสุวรรณภูมิอย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง