นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้มีการประชุมหารือ แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และการปรับตัวรองรับ Next Normal โดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน กว่า 30 หน่วยงาน มาร่วมประชุมและระดมความเห็นในประเด็นดังกล่าว อาทิ กรมการท่องเที่ยว กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้ สภาอุตสาหกรรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันอาหาร สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก ฯลฯ
ทั้งนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” (Covid-19) มากที่สุดเป็นอันดับ1 โดยรายได้ลดลง 73% ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ ธุรกิจบันเทิง รายได้ลดลด 59% ,3.ธุรกิจรับจ้าง บริการ รายได้ลดลง 44% ,4.ธุรกิจการผลิต รายได้ลดลง 42% และ5.ธุรกิจอาหาร รายได้ลดลง 41%
นอกจากนี้ สถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 79.46% รายได้จากท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 69.12% ทำให้ห่วงโซ่อุปทางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ว่าจะผู้ให้บริการการท่องเที่ยว โรงแรมและที่พัก การขนส่ง ธุรกิจร้านค้า ธุรกิจอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจการประชุม และงานแสดงสินค้า ฯลฯ
สำหรับการหารือครั้งดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสะท้อนปัญหา อุปสรรค ความต้องการรับความช่วยเหลือและโอกาสในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อร่วมหาแนวทางช่วยเหลือตลอดจนการส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว การรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหาข้อสรุปของปัญหาเพื่อหามาตรการที่จะไปเชื่อมโยงกับแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีของ สสว.
อย่างไรก็ดี จากเวทีที่ประชุม สามารถสรุปความต้องการที่สะท้อนได้จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ดังนี้ 1.ปัญหาเรื่องการปรับตัวกับสถานการณ์ผลกระทบเรื่องโควิด-19 นั่นคือผู้ประกอบการรายย่อย อาจจะไม่ทราบว่า จะปรับตัวอย่างไร ในขณะนี้ผู้ประกอบการขนาดกลาง อาจปรับตัวได้บ้าง ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาคือ 1.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็นเรื่อง การพัฒนาระบบเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลในซัพพลายเชน เช่น จำนวนโรงแรม จำนวนช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ หรือรถนำเที่ยว เพื่อนำฐานข้อมูลเหล่านี้ใช้ประกอบการท่องเที่ยวและการประกอบการ
และ 2. เรื่ององค์ความรู้ ที่จะต้องให้ความสำคัญทั้งเรื่องการถอดองค์ความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งโจทย์สำคัญ คือ ต้องพิจารณาว่า เนื้อหาใดเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่นเรื่องจำนวนผู้ประกอบการ เรื่องบุคลากรในสถานประกอบการ หรือแม้แต่เรื่องผู้ว่างงานจากธุรกิจท่องเที่ยว
,2.ปัญหาเรื่องความพร้อมของสถานที่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และปัจจัยเอื้อในการประกอบการ ซึ่งแนวทางการแก้ไขคือ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการประกอบการและส่งเสริมให้เกิดการประกอบการ รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงกับซอฟท์แวร์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว
,3.ปัญหาเรื่องการทำงานแบบบูรณาการครบวงจร ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาคือ สร้างต้นแบบสถานที่ท่องเที่ยวภายใต้ Happy Model โดยเป็นความเห็นชอบร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้าไปสร้างสถานที่ต้นแบบดังกล่าว
และ4.ปัญหาเรื่องรายได้ลดลง ตลาดหดตัวและ สภาพคล่องกิจการลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางแก้ไขคือ มาตรการทางการเงิน มาตรการทางด้านตลาด แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การหาตลาดใหม่ การนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ เป็นต้น
“อีกช่องทางหนึ่งของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือ การเข้าถึงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ประกอบการในตลาด MICE ผู้ประกอบการทั่วไป หรือการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนสมาชิก สสว. ได้ที่ www.sme.go.th”
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมธุรกิจ SMEs ไทยตามโครงสร้าง “จีดีพี” (GDP) ประเทศตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจปี 2562 มีสัดส่วนดังนี้ การค้าปลีกค้าส่ง 16.5% การบริการ 44.6 % ก่อสร้าง 2.5 % บริการภาครัฐ 5.9% บริการภาคเอกชน 36.2 % อุตสาหกรรม 30.9 % เกษตร 8.0 %