เวิลด์แบงก์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 โดยอาจหดตัวกว่า 5% ในปี 2563 และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีกว่าที่จะกลับไปสู่ระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ก่อนที่จะประสบปัญหาโควิด-19
อย่างไรก็ตามในวิกฤตครั้งนี้ก็เป็นโอกาส การระบายของโควิดเป็นตัวขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีของคนไทย และภาคธุรกิจ ครั้งใหญ่เพื่อปรับวิถีชีวิตใหม่ยุค New Normal ซึ่งธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์ไปเต็มๆ คือ ธุรกิจบริการดิจิทัล ทั้ง “อีคอมเมิร์ซ” ที่วิกฤตโควิดที่ผ่านมาแพลตฟอร์มใหญ่ อย่างช้อปปี้ ลาซาด้า เจดี เซ็นทรัล โกยยอดนักช้อปหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว เช่นเดียวกับ แบรนด์และร้านค้า ที่ช่องทางขายสินค้าปกติ ถูกปิดจากมาตรการล็อคดาวน์
ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2563 จะมีมูลค่า ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 35% ขณะที่ข้อมูลจากลาซาด้า ระบุช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาช่วยสร้างรายได้ให้กับ SMEs ไทยกว่า 300,000 ราย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่แคมเปญล่าสุด “Lazada 12.12 แกรนด์เซลส่งท้ายปี”มีจำนวนแบรนด์และผู้ขายเพิ่มสูงขึ้นกว่าสองเท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงแบรนด์บน LazMall กว่า 7,000 แบรนด์ นอกจากนี้จำนวน นักช้อปยังเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากวันปกติ กระหน่ำช้อปสินค้าไปถึง 14 ล้านชิ้น
การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ส่งอานิสงค์มายังธุรกิจในระบบนิเวศ ทั้งบริการจัดส่งพัสดุ ที่เติบโตเป็นเงาตามตัว โดยคาดว่าปี 2563 บริการขนส่งพัสดุ จะมีมูลค่าตลาด 6.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 35% ,บริการอีเพย์เม้นท์ โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุว่าปริมาณการใช้งานอีเพย์เม้นท์ของคนไทยในปี 2563 อยู่ที่ 151 ครั้งต่อคนต่อปี (ข้อมูล เม.ย. 63) โดยในช่วงโควิด มีปริมาณธุรกรรมอินเตอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่า 72% และมีการชำระเงินผ่านพร้อมเพย์สูงสุดถึง 16.3 ล้านรายการต่อวัน (เม.ย. 63)
บริการดิจิทัลอีกกลุ่มที่มีการเติบโตท่ามกลางวิกฤตโควิด คือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยช่วงโควิดร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 รายต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก เติบโตสูงถึงประมาณ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าครึ่งหลังปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารเติบโต 17% ทั้งนี้คาดว่าปี 2563 มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ จะอยู่ประมาณ 3.3-3.5 หมื่นล้าน
เช่นเดียวกับตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่น ที่การปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรธุรกิจ และทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุดท่ามกลางวิกฤตโควิด ทั้งรองรับการทำงานของพนักงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ รวมถึงการขยายช่องทางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ทำให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพื่อรองรับ เป็นแรงผลักดันให้ตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่น มูลค่าประมาณ 15,718 ล้านบาท ขยายตัว 19.4%
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564