ถอดรหัส 3 มุมมองธุรกิจ  ท่องเที่ยวฟื้นปี 65

17 ม.ค. 2564 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2564 | 03:59 น.

ทิศทางการท่องเที่ยวในปีนี้ จะเป็นเช่นไร “ฐานเศรษฐกิจ” หยิบ 3 มุมมอง ด้านท่องเที่ยว โรงแรม และการบิน จากเวทีเสวนา ที่จัดโดยคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มานำเสนอ ซึ่งต่างฟันธงว่ายังอ่วมด้วยพิษโควิด-19 และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ท่องเที่ยวยังไม่เห็นแสงสว่าง

 

นางสาวสุมาลี ว่องเจริญกุล เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ตอนเริ่มระบาดครั้งแรกที่จีน ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือ แต่ไม่คิดว่าจะยาวนานขนาดนี้ 

 

ที่ผ่านมามีความช่วยเหลือบ้าง ผ่านการคืนเงินประกันบริษัททัวร์โดยกรมการท่องเที่ยว หรือโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) การบินไทย รวมถึงสมาคมโรงแรมไทย (โครงการกำลังใจ ,เราเที่ยวด้วยกัน, Expat Travel Deal เส้นทางคนโสด เที่ยวไทยวัยเก๋า)

แต่ก็ช่วยเหลือไม่ได้มากและไม่ทั่วถึง ผนวกกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้สมาชิกปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว (SHA)

 

รวมถึงรองรับกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป จากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มเล็ก/FIT หรือจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบ Long haul เป็น Short haul

มุมมองด้านท่องเที่ยวโรงแรม การบินในปี 64

การพิจารณาอนุมัติการดำเนินการโครงการท่องเที่ยวใหม่ ๆ มีความยุ่งยาก เนื่องจากภาครัฐไม่กล้าตัดสินใจ ปัจจุบันขอความช่วยเหลือไปทางภาครัฐให้พิจารณาเรื่องกองทุน การเยียวยา (ซอฟท์โลน) แรงงาน (Co-payment) และวัคซีน วงการท่องเที่ยวไม่ได้เลวร้ายไปตลอด เพียงแต่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นแสงสว่างความคาดหวังตอนนี้ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงอยู่ที่วัคซีน

 

โรงแรมจ่อปิดกิจการ

 

นายกฤษณัฏฐ์ อุดมภัคพิพัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลากูน่า เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ผ่านวิกฤติมาหลายรูปแบบ ทั้งโรคระบาด ภัยธรรมชาติ รวมถึงการก่อการร้าย ซึ่งทุกเรื่องมีความอ่อนไหวต่อภาคการท่องเที่ยว

 

พอโควิด-19 เข้ามา จำนวนผู้เข้าพัก ที่ดิ่งลงเรื่อยๆ ก็เริ่มวางแผนปรับตัว จากแผนระยะสั้นด้วยการลดเงินเดือนพนักงาน สู่แผนระยะกลางด้วยการปลดพนักงาน และแผนระยะยาวที่เริ่มกลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศได้

 

การเข้าร่วมโครงการ Alternative State Quarantine (ASQ) / Alternative Local Quarantine (ALQ) ของรัฐบาล มีจุดที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบเรื่องความเชื่อมั่นต่อแบรนด์หลังหมดสถานการณ์โควิด โรงแรมลงทุนไปหลายล้าน อบรมพนักงานให้ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ สุดท้ายไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

 

พอมีโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ช่วงพีคๆ จำนวนผู้เข้าพัก 75-80% แต่ด้วยราคาขายที่ต่ำมากจึงไม่มีกำไร แต่ก็ยังดีที่มีรายได้เข้ามา ทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

 

ถึงแม้โรงแรมที่ภูเก็ตจะลดราคา แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องค่าโดยสารเครื่องบินที่ไม่เอื้อให้มาท่องเที่ยว องค์กรด้านท่องเที่ยวและโรงแรมในไทยต่างมีแผนของตัวเอง แต่ขาดการมองประโยชน์ร่วมกัน

 

วันนี้ผมพูดได้ว่าพังโดยสิ้นเชิง ภาครัฐเชื่องช้า ผู้ประกอบการก็เสียงแตก ในปี 2564 คงยังไม่กลับมาแน่นอนอาจเลวร้ายกว่าปี 2563 โดยภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ที่ภูเก็ตอาจมีโรงแรมปิดกิจการอีกอย่างน้อย 10 โรงแรม รวมถึงบิ๊กเนมด้วย คาดการณ์ว่าปี 2565 ท่องเที่ยวไทยน่าจะกลับมาได้ 20-25% เมื่อเทียบกับปี 2562

 

 

 

ธุรกิจจะฟื้นแบบ K-shaped

 

นายกรกฎ ชาตะสิงห์ นายกสมาคมธุรกิจสายการบิน (BAR) กล่าวว่าจำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี2563  มีสัญญาณที่ดี คือมีปริมาณเกือบเทียบเท่ากับปีก่อนหน้า

กรกฎ ชาตะสิงห์

 

แต่กลับต้องมาชะงักอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ คาดการณ์ว่าธุรกิจการบินจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งในปี 2568

 

จากโควิด-19 เรามองผลกระทบและการฟื้นฟูของสถานการณ์โควิด-19 กันผิดพลาด จากตอนแรกคือ V-shaped recovery เป็น U-shaped เป็น Nike-shaped และปัจจุบันคือ K-shaped หมายถึงกินระยะเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และปัจจุบันก็ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ประเมินว่าผู้โดยสารในปี 2563  มีจำนวนหายไปถึง 81.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 

 

นับถึงเดือนตุลาคม 2563  มีสายการบินพาณิชย์ทั่วโลกประสบภาวะล้มละลายไปแล้ว 43 สายการบิน สิ่งแรกที่สายการบินต่าง ๆ ดำเนินการหลังประสบโควิด-19

 

คือการปรับโครงสร้างองค์กรและฝูงบินให้เล็กลง ปรับวิธีคิดในการทำธุรกิจให้หลากหลายยิ่งขึ้น (Diversification) เช่น การจำหน่ายอาหารจากครัวของสายการบิน  การขนส่งสินค้า การขายอากาศยาน เป็นต้น

 

ทิศทางการผลิตเครื่องบินหลังโควิด จะเป็นเครื่องบินขนาดกลาง ขนาดสองเครื่องยนต์ที่มีชั่วโมงบินราว 6-7 ชั่วโมง ประหยัดน้ำมัน ขณะที่แนวโน้มการให้บริการของสายการบินต่างๆ จะเป็นแบบ Hybrid มากขึ้น ผสมผสานระหว่าง Low cost กับ Full board

 

ความท้าทายของสายการบินหลังโควิด คือ กำลังการผลิตที่อาจเติบโตไม่ทันรองรับการกลับมาของผู้โดยสาร เนื่องจากมีต้นทุนในการบำรุงรักษาสูงมาก รวมถึงเรื่องการสร้างความมั่นใจของผู้โดยสารในการใช้บริการสายการบินและเครื่องบินในแบบ New Normal ด้วย 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไปต่อไม่ไหว โรงแรมหรู 18 แหล่งท่องเที่ยวในพัทยา ทยอยปิดชั่วคราว

ท่องเที่ยวปี 64 ‘วัคซีน’ เป็นคำตอบ ระยะสั้นอยู่รอด รัฐต้องอุ้ม

ร่วงระนาว เอสเอ็มอีท่องเที่ยว เลิกกิจการพุ่ง ปิดแล้ว 240 ราย