บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) สรุปปริมาณเที่ยวบิน พร้อมจัดอันดับเที่ยวบินของ สายการบิน สนามบินภูมิภาค ประจำเดือนธันวาคม 2563 ที่มีการใช้บริการมากที่สุด ก่อนการระบาดระลอก 2 ของโควิด-19
จากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เช่นเดียวกัน การเดินทางทางอากาศยังคงเป็นไปแบบชะลอตัว ทั้งนี้ หากจะเปรียบเทียบปริมาณเที่ยวบิน ที่ทำการบิน ขึ้น-ลง ในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ประเทศไทย มีปริมาณเที่ยวบินเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ส่วนอันดับถัดไปเป็น เวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์
ปัจจุบันสถานการณ์เที่ยวบินเข้า-ออก และผ่านน่านฟ้าไทย ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้ว่าภาพรวมของสถิติเที่ยวบินในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราการเพิ่มแบบชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศ และเที่ยวบินผ่านน่านฟ้า ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประมาณ 70-80% ซึ่งในเดือนธันวาคม 2563 วิทยุการบินฯให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ รวมทั้งสิ้น 39,506 เที่ยวบิน เมื่อเปรียบเทียบกับพฤศจิกายน 2563 มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 4,068 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 11.5%
โดยให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ แบ่งเป็น
-เที่ยวบินระหว่างประเทศ 5,277 เที่ยวบิน
- เที่ยวบินภายในประเทศ 24,056 เที่ยวบิน
- เที่ยวบินผ่านน่านฟ้า 2,747 เที่ยวบิน
-เที่ยวบินสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทางทหารและราชการ 7,426 เที่ยวบิน
สำหรับสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินสูงสุดในประเทศไทย ประจำเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ครองอันดับ 1 ด้วยปริมาณเที่ยวบิน 7,668 เที่ยวบิน ตามด้วย สายการบินนกแอร์ 4,313 เที่ยวบิน และไทย เวียตเจ็ท 3,510 เที่ยวบิน ตามลำดับ
ด้านสนามบินภูมิภาค สนามบินเชียงใหม่ ยังคงเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินใช้บริการมากที่สุด ตามด้วยสนามบินภูเก็ต และสนามบินหาดใหญ่ ในขณะที่สนามบินนครศรีธรรมราช ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 และสนามบินอุดรธานีเป็นอันดับที่ 5
ทั้งนี้การคาดการณ์และแนวโน้มสถานการณ์ทางการบิน ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ว่าจะส่งผลกระทบยืดเยื้อ หรือจะสามารถควบคุมให้กลับมาเป็นปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเที่ยวบินอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปิดปี63 วิทยุการบิน แจงเที่ยวบินหายฮวบน่านฟ้าไทย55%
ครม.เห็นชอบให้ “วิทยุการบิน” จัดการการจราจรทางอากาศแบบถาวร