กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย ย้อนปมปัญหาห้องนักบิน ว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี ทําให้มีการเข้ามาจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำอย่างต่อเนื่อง เกิดการจ้างงานบุคลากรด้านการบินเป็นจํานวนมาก สถาบันการศึกษาหลายแห่งเริ่มเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินเพื่อผลิตบุคลากร
แม้ว่าในอุตสาหกรรมการบินจะมีบุคลากรหลากหลายวิชาชีพ แต่หากพิจารณาถึงกระบวนการการกํากับดูแลจากสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อาจแบ่งวิชาชีพต่างๆได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้
1.วิชาชีพที่ต้องได้รับใบอนุญาตผู้ประจําหน้าที่ อันได้แก่ ผู้ประจําหน้าที่ในอากาศยานหรือนักบิน พนักงานอํานวยการบิน วิศวกรซ่อมบํารุงอากาศยาน และ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ
2. วิชาชีพที่ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตผู้ประจําหน้าที่ อันได้แก่ พนักงานต้อนรับบนอากาศยาน พนักงานบริการภาคพื้น เจ้าหน้าที่บริการลานจอด เจ้าหน้าที่จําหน่ายบัตร โดยสาร วิศวกรการบิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ และอื่นๆ
เมื่อสายการบินต่างๆมีการขยายฝูงบินอย่างรวดเร็ว ทําให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรในส่วนนักบิน และช่างอากาศยานเนื่องจากลักษณะงานต้องใช้ความชํานาญและประสบการณ์สูง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของสายการบินที่ตั้งใหม่ด้วยการดึงตัวบุคลากรกลุ่มดังกล่าวจากสายการบินคู่แข่งให้มาทํางานด้วย
ทําให้เกิดกระแสนักบินและช่างอากาศยานขาดแคลน มีผู้สนใจเข้าเรียนหลักสูตรที่เกี่ยวกับการบินเพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมาก และเป็นที่มาของปัญหาใหม่ 2 ประการคือ
1) มีการผลิตบุคลากรมากเกินความต้องการของตลาด โดยในบางหลักสูตร การฝึกศึกษาไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงานส่งผลให้บุคลากรที่จบมาต้องว่างงาน
2) การออกใบอนุญาตผู้ประจําหน้าที่และการกํากับดูแลไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
เมื่อผ่านความซบเซาในช่วงสั้น เพราะประเทศไม่ผ่านการตรวจสอบของ ICAO หรือ ติดธงแดง ในปี พ.ศ.2558 จากสาเหตุการออกใบรับรองสายการบินโดยขาดกระบวนการที่เป็นมาตรฐานสากล ธุรกิจการบินก็กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ก่อนตลาดการจ้างงานถึงจุดอิ่มตัว
เมื่อสายการบินส่วนใหญ่เริ่มประสบปัญหาขาดทุนจากการแข่งขันด้านราคาบัตรโดยสารที่รุนแรง ทําให้ผู้จบการศึกษาในสาขาด้านการบินมีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม นักบิน ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลของสมาคมนักบินไทยพบว่า มีการว่างงานสะสมกว่า 820 คน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างหนัก แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการบินจึงเกิดสภาวะแรงงานล้นตลาดและมีแนวโน้มว่าปัญหาการลดค่าตอบแทน การพักงานชั่วคราว และการเลิกจ้างบุคลากรด้านการบินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตมาโดยตลอดและมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน อาทิ การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า การบริการ ให้มีอัตราการขยายตัวแบบก้าวกระโดดโดยการขนส่งทางอากาศของไทย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553 -2562) มีอัตรา การขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate – CAGR) ร้อยละ 11.4 ต่อปี
ในปี พ.ศ. 2562 รายงานสภาวะอุตสาหกรรมการบินของโลกของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ระบุว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น ร้อยละ 15.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมีผลต่อการจ้างงานมากกว่า 4.3 ล้านตําแหน่ง
อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับไปในอดีตพบว่า เกิดปัญหาทางด้านความพร้อมของบุคลากรการบินมาอย่างต่อเนื่อง ทําให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมและโอกาสทางธุรกิจ
แม้จะมีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมการบินจะกลับมามีบทบาทสําคัญในการสนับสนุนเครือข่ายการคมนาคมให้กับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศอีกครั้ง
แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกตกต่ำอย่างหนักคาดว่าต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 3-5 ปี จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสําหรับภาครัฐและเอกชนของไทยในการเตรียมบุคลากรด้านการบินให้ยังมีความพร้อมในการทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ภายใต้ข้อจํากัดทางด้านต้นทุนที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างช้าๆจะกดดันให้ปริมาณการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินของไทยลดลงอย่างมีนัยยะสําคัญ และอาจจะมีงานบางอย่างถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี หรือระบบอัตโนมัติ
ดังนั้นการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อม บุคลากรในอนาคตควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการทํานายความต้องการของตลาดแรงงานโดยต้องคำนึงถึง วิถีชีวิตปกติใหม่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทาง การเว้นและระยะห่างทางสังคม และมาตรฐานทางสาธารณสุขสำหรับการเดินทาง เพื่อลดการสูญเสียเงินทุนและเวลาในการฝึกอบรม
ในปัจจุบัน มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจํานวนมากต้องว่างงาน และมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หากประเทศไทยต้องการเตรียมความพร้อมในการกลับมาเป็นผู้นําทางด้านการบินของภูมิภาคอาเซียน ภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการรักษาการจ้างงานของบุคลากรไว้ รวมถึงมีต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจในวิชาชีพด้านการบินทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริง เพื่อลดการเข้าสู่ตลาดแรงงานของคนกลุ่มใหม่
ในช่วงวิกฤติของอุตสาหกรรมการบินของโลก ถ้าเราติดตามข่าว จะพบว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆจะเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินตามความเหมาะสม เพราะถือเป็นยุทธศาตร์ของชาติและเป็นเครือข่ายการคมนาคมที่สำคัญ ส่วนตัวอยากให้มีการช่วยเหลือดังนี้
1. ควรมีหน่วยงานที่ช่วยสํารวจข้อมูลความต้องการแรงงานในธุรกิจการบินทั้งในระดับประเทศ และระดับ นานาชาติ เพื่อนำมาวางแผนเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการบินอย่างเป็นระบบ โดยอาจทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า และมีการความช่วยเหลือบุคลากรด้านการบินอย่างเหมาะสม
2.ควรมีหน่วยงานเพื่อติดตามการวางแผนพัฒนาบุคลกรด้านการบินของประเทศอย่างต่อเนื่องให้สามารถ ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันเวลา สําหรับหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบินควรมีการประสานงาน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคมและผู้ประกอบการในธุรกิจการบิน เพื่อให้หลักสูตรตรง ความต้องการของตลาดแรงงาน
3.เร่งรัดการอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสายการบิน และออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจการบินโดยการรับความช่วยเหลือต้องมีเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ในการลดอัตราการเลิกจ้างงานเป็นส่วนประกอบ รวมถึงภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการแบ่งรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของผู้ประกอบการในธุรกิจการบินด้วย
4. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะด้านอื่นให้กับบุคลากรการบินเพื่อเปิดโอกาสในการทํางานให้มากขึ้น รวมถึงการจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมตามความต้องการในระหว่างรอการจ้างงาน
5. สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยควรกําหนดแนวทางผ่อนผันกฎระเบียบบางอย่างเพื่อช่วยเหลือบุคลากรด้านการบิน อาทิเช่น การต่อใบอนุญาตผู้ประจําหน้าที่สําหรับนักบิน รวมถึงกําหนดมาตรการให้สายการบินและผู้ประกอบการจัดหลักสูตรในการช่วยเหลือให้ผู้ถือใบอนุญาตผู้ประจําหน้าที่สามารถรักษาประสบการณ์การทํางานตามระยะเวลา
6. ควรจัดตั้งสภาวิชาชีพด้านการบินเพื่อให้บุคลากรในวิชาชีพต่างๆในอุตสาหกรรมการบินมีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรทั้งในแง่ของการส่งเสริม คุ้มครอง และควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ โดยให้หน่วยงานภาครัฐ ช่วยอํานวยความสะดวกและกําหนดทิศทางในภาพรวม เพื่อจุดประสงค์ในการดูแลจรรยาบรรณวิชาชีพ และปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในกลุ่มบุคลากร
7. สายการบินต่างๆควรมีความร่วมมือในเรื่องการบินขนส่งสินค้ากับภาคธุรกิจการนําเข้าและส่งออกของไทย เพื่อลดความเสี่ยงการขาดหายไปของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารในอนาคต
8. ส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน อาทิเช่น นักบินอากาศยานไร้คนขับ เพื่อเข้าไปช่วย งานทางด้านการเกษตร การสํารวจทรัพยากร การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และภารกิจอื่นๆ รวมถึงส่งเสริม การใช้อากาศยานขนาดเล็กในทํากิจกรรมด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ เพื่อเพิ่มอัตราจ้างงาน บุคลากรในประเทศ
หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคนในอุตสาหกรรมการบิน สู้ๆ "ผมเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลไม่ช่วย ทุกคนตายหมด"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
7 แอร์ไลน์รอดตาย รัฐหนุนซอฟต์โลน จ้างต่อ 1.5 หมื่นคน
โควิดระลอกใหม่ ทุบแอร์ไลน์พังพาบ วอนรัฐขยายเวลาอุ้ม
ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด
อั้นไม่ไหว "ไทยแอร์เอเชีย" ให้พนักงานลาหยุดไม่รับเงินเดือน 2-4 เดือน
ต่อลมหายใจสายการบิน กบร.ไฟเขียว 6 มาตรการเยียวอุ้มธุรกิจ