นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเชิญชวนผู้ประกอบการให้ขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าถึงตลาดภาครัฐ ในเบื้องต้น สสว. ได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ ในการเผยแพร่มาตรการดังกล่าวไปสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ในเครือข่าย
และล่าสุดได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ธนาคารออมสิน ,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ,ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ ขณะเดียวกันธนาคารบางแห่งเตรียมที่จะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อช่วยสนับสนุน SMEs ที่เข้าระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้กับลูกค้าธนาคารที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs
“การลงทะเบียนผ่าน www.thaismegp.com นั้น เพียงกรอกข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมแนบหลักฐานการจัดตั้งธุรกิจ ได้แก่ สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล/ทะเบียนพาณิชย์ หรือหลักฐานการจดทะเบียนกับหน่วยงานราชการ เอกสารแสดงรายได้ (เพื่อพิจารณาความเป็น SMEs) ได้แก่ งบการเงินปีล่าสุด /เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายได้ เช่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และรอรับ SMS แจ้ง Username และ Password เพื่อเพิ่มรายละเอียดและรูปภาพในระบบ เพียงเท่านี้ก็สามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐได้”
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ภายหลังที่กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยกฎกระทรวงดังกล่าว มีมาตรการสำคัญที่ สสว. เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ มาตรการสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการของ SMEs ที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. ในวงเงินไม่น้อยกว่า30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ
“ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นับเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่จะเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ด้วยมูลค่าที่สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี และที่ผ่านมามีเพียงผู้ประกอบการบางส่วนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ แต่ภายใต้กฎกระทรวงฯ นี้ ได้ให้สิทธิประโยชน์กับ SMEs เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระจายโอกาสให้กับ SMEs ที่อยู่ในท้องถิ่นโดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะเป็นหน่วยจัดซื้อ คัดเลือก SMEs ในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งของหน่วยงานจำนวนไม่น้อยกว่า 3 รายก่อน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีคัดเลือก และการให้แต้มต่อกับ SMEs ที่เสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) 10% สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ SMEs สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว มีทั้งที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล บุคคลธรรมดา หรือวิสาหกิจชุมชน ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามนิยาม SMEs ที่ สสว. กำหนด คือ หากอยู่ในภาคการผลิต จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนภาคการค้าและบริการ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี ที่สำคัญจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการและรายการสินค้าและบริการในระบบที่ สสว. จัดทำขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สสว.” ขยายเวลาโครงการสร้างความรู้อัตราแลกเปลี่ยนรับมือเงินบาทแข็ง
“สสว.” เล็งออก “คนละครึ่ง” ภาค SMEs
ด่วน ธนาคารออมสิน สินเชื่อเสริมพลังฐานราก เปิดลงทะเบียนรอบสุดท้ายวันนี้จนกว่าเงินจะหมด
ด่วน ธนาคารออมสิน แจ้งปิดการสมัคร สินเชื่อเสริมพลังฐานราก
ส่องมาตรการเยียวยา"โควิด"จาก "ธ.ก.ส." ใครอยากกู้ - ใครอยากพักหนี้เช็กเลย