เปิด 36 กลุ่มเจ้าหนี้"การบินไทย" ยืดชำระยาวสุด 14 ปี

06 มี.ค. 2564 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2564 | 12:41 น.

“การบินไทย” จัดชั้น 36 กลุ่มเจ้าหนี้ มูลค่า 4.1 แสนล้านบาท วางกรอบผ่อนชำระสั้น-ยาวไม่เท่ากัน สั้นสุดอยู่ที่ 2 ปี สูงสุด 14 ปี  เปิดออฟชั่นให้เลือกแปลงหนี้เป็นทุน แบ่งชำระสถาบันการเงินเป็น 2 ส่วน พักชำระดอกเบี้ย 3-6 ปี ด้านหุ้นกู้ 14 กลุ่มใช้เวลาชำระ 14 ปี ทั้งตีตกหนี้ที่ผู้บริหารเห็นว่าไม่มีสิทธิยื่นขอชำระร่วม 1.9 แสนล้านบาท 

การยื่นแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม2564 มีจำนวนคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่น ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น จำนวน13,133 ราย เป็นมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้จำนวน 410,140 ล้านบาท 

จากการสำรวจของ"ฐานเศรษฐ"พบว่า การบินไทยได้จัดแบ่งเจ้าหนี้ทั้งหมดออกเป็น 36 กลุ่ม โดยจะแบ่งรูปแบบการชำระหนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่จะได้รับการชำระหนี้ 100% ประกอบไปด้วย เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 คือ เจ้าหนี้มีประกัน คือ เอ็กซิม แบงก์ มูลหนี้รวม 418 ล้านบาท ที่จะได้รับการชำระหนี้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวภายในวันทำการสุดท้ายของปีที่2 ของแผน 

ส่วนเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 คือ เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าเครื่องบิน มีจำนวน 24 ราย มีภาระหนี้รวม 5,455 ล้านบาท เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 คือ เจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าซื้อเครื่องบิน มีจำนวน 29 ราย มีภาระหนี้ 2,741 ล้านบาท

เจ้าหนี้กลุ่มที่4 คือ เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีใช่สถาบันการเงิน มี 1 ราย หนี้ 13,153 ล้านบาท กลุ่มที่7 คือ เจ้าหนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บภาษี/อากร รวมหนี้ 20,389 ล้านบาท

 

รวมถึงเจ้าหนี้กลุ่มที่8 เจ้าหนี้พนักงาน 499 ราย รวมหนี้ 227 ล้านบาท เจ้าหนี้กลุ่มที่10 คือ เจ้าหนี้การค้า 1,878 ราย รวมหนี้ 16,805 ล้านบาท กลุ่มที่11 เจ้าหนี้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงและจำเป็นต่อกิจการด้านการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน 7 ราย รวมหนี้ 5,576 ล้านบาท

กลุ่มที่12 เจ้าหนี้เงินประกันการปฏิบัติตามสัญญา 208 ราย รวมหนี้ 139ล้านบาท เจ้าหนี้กลุ่มเหล่านี้จะได้รับชำระจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติของการบิน ไทย โดยจะได้รับชำระเป็นรายครึ่งปี

ขณะที่กลุ่มที่ 9 คือ เจ้าหนี้ผู้โดยสารที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) 6,655 ราย 1,423 ล้านบาท เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ด้วยวิธีการชำระคืนเงินค่าบัตรโดยสารตามวิธีปกติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ทั้งนี้การบินไทยอาจเสนอเป็นทราเวล เวาเชอร์ แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้แทนเงินสด

ส่วนเจ้าหนี้กลุ่มที่13 คือ เจ้าหนี้ค่าตอบแทนตัวแทนขายบัตรโดยสารค้างจ่าย 75 ราย รวมหนี้ 146 ล้านบาท และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 14 คือ เจ้าหนี้เงินมัดจำ/เงินประกันการจองบัตรโดยสาร 109 ราย รวมหนี้ 171 ล้านบาท การบินไทยจะให้วงเงินแก่เจ้าหนี้แต่ละรายเท่ากับ100%ของภาระหนี้เงินต้น เพื่อนำมาใช้แทนเงินสดในการทำธุรกรรมในอนาคต โดยจะต้องไม่เกิน 70% ของค่าสินค้าและบริการในแต่ละราย ทั้งนี้เจ้าหนี้ต้องใช้วงเงินภายในปีที่ 2 

สำหรับเจ้าหนี้กลุ่มที่15 คือ เจ้าหนี้ที่ได้ชำระเงินคืนให้แก่ลูกค้าแทนการบินไทยกรณีลูกค้าปฏิเสธการชำระเงิน(Chargeback) 6 ราย รวมหนี้ 3,524 ล้านบาท จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติของการบินไทย ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 16 ผู้มีสิทธิใช้ไมล์สะสมที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 9 ราย รวมหนี้ 245 ล้านบาทจะได้รับการขยายเวลาสิ้นสุดไมล์สะสมจากสิ้นปี 65ไปถึงปี 66

การจัดกลุ่มเจ้าหนี้การบินไทย

เจ้าหนี้กลุ่มที่17 คือ ผู้ถือหุ้นที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 3 ราย รวมหนี้ 94.4 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับชำระหนี้ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในแผนนี้ เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหนี้ตามมาตรา 90/27 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย แต่หากศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ก็จะได้รับ 100% ของจำนวนเงินต้น จากกระแสเงินสดการดำเนินงานปกติของการบินไทย ที่จะได้รับภายในปีที่ 10

ในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ ได้แก่ เจ้าหนี้กลุ่มที่18 คือ เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2563 จำนวน 469 ราย รวมหนี้ 6,728 ล้านบาท กลุ่มที่19 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2564 จำนวน 628 ราย รวมหนี้ 8,182ล้านบาท กลุ่มที่ 20 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2565 จำนวน 385 ราย รวมหนี้ 11,244 ล้านบาท

กลุ่มที่ 21 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2566 จำนวน 386 ราย รวมหนี้ 6,815 ล้านบาท กลุ่ม22 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2567 จำนวน 308 ราย รวมหนี้ 6,029 ล้านบาท

กลุ่ม23 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2568 จำนวน 147 ราย รวมหนี้ 6,458 ล้านบาทกลุ่มที่24 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2569 จำนวน 82 ราย รวมหนี้ 3,731ล้านบาท กลุ่มที่ 25 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2570 จำนวน 136 ราย รวมหนี้ 3,101 ล้านบาท

กลุ่มที่ 26 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2571 จำนวน 191 ราย รวมหนี้ 6,800 ล้านบาท กลุ่มที่ 27เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2572 จำนวน 135 ราย รวมหนี้ 4,303 ล้านบาท กลุ่มที่ 28 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2573 จำนวน 39 ราย รวมหนี้ 1,238 ล้านบาท

กลุ่มที่ 29 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2575 จำนวน 79 ราย รวมหนี้ 2,077ล้านบาทกลุ่มที่ 30 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2576 จำนวน 136 ราย รวมหนี้ 2,779 ล้านบาท กลุ่มที่31 เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดิมในปี 2577 จำนวน 85 ราย รวมหนี้ 4,041 ล้านบาท

ทั้งนี้เจ้าหนี้หุ้นกู้ ทัั้งหมดจะได้รับการชำระหนี้ 100% โดยได้รับจากกระแสเงินสดของการบินไทยภายในปีที่ครบกำหนดไถ่ถอนที่ได้รับการขยายระยะเวลาไถ่ถอน และจะได้รับดอกเบี้ยใหม่จากภาระหนี้เงินต้นในอัตราร้อยละ 1.50 ต่อปี หรือเลือกวิธีการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญของการบินไทย มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ10 บาท และกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุนที่ราคาหุ้นละ 3.86 บาท โดยเจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้ง 14 กลุ่มนี้จะขอยืดระยะเวลาชำระยาวสุด 14 ปี เริ่มในปี 2567-2581

ในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่มที่32 คือ เจ้าหนี้สถาบันการเงินผู้ออกหนังสือค้ำประกัน 3 ราย รวมหนี้ 533 ล้านบาท จะได้รับการชำระในปีที่ 3 ของแผน สำหรับกลุ่มที่ 34 เจ้าหนี้ภาระผูกพันตามสัญญาให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์รายใหญ่ ที่มีความจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจการบินของการบินไทยอย่างยิ่งยวด ซึ่งผู้ทำแผนอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาท2 ราย รวมหนี้ 39,418 ล้าน จะมีการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาท

กลุ่มที่ 36 เจ้าหนี้ที่ยึดหน่วงเครื่อง ยนต์ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินงาน 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ที่การบินไทยค้างชำระเงินค่าซ่อมบำรุง และได้ยึดเครื่องยนต์ไว้ รวมหนี้ 2,889 ล้านบาท (92 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) การบินไทยจะชำระหนี้เป็นรายงวด เพื่อขอเครื่องยนต์คืน

ได้แก่ งวดที่ 1 จำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 2 เดือน งวดที่ 2 จำนวน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเดือนธ.ค. 64 ปีที่ 2 ของแผนชำระ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ปีที่ 3 ชำระ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีที่ 4 ชำระ 18.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

2.เจ้าหนี้ที่จะได้รับการชำระหนี้ จะแบ่งชำระหนี้เป็น 2 ส่วน ส่วนละ 50% ได้แก่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน คือ ธนาคารกสิกรไทย มีภาระหนี้ 496 ล้านบาท และกลุ่มที่6 เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน จำนวน 17 ราย หนี้ 31,228 ล้านบาท และกลุ่มที่6 เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน จะแบ่งการการชำระออกเป็น 2 ส่วน

โดยแยกเป็นภาระหนี้ส่วนที่ 1 ที่จะได้รับจากกระแสเงินสด ชำระเป็นรายครึ่งปี และจะได้รับดอกเบี้ยใหม่จากภาระเงินต้น 1.50% ต่อปี โดยใน 3 ปีแรกดอกเบี้ยในส่วนนี้จะถูกพักไว้ ภาระหนี้ส่วนที่ 2 ชำระ 50% ภายหลังชำระหนี้ในส่วนที่ 1 ครบแล้ว โดยจะได้รับดอกเบี้ยใหม่อัตรา 1% ต่อปีโดยใน 6 ปีแรกดอกเบี้ยส่วนนี้จะถูกตั้งพักไว้ และเริ่มชำระดอกเบี้ยปีที่7 ของแผนเป็นต้นไป หรือจะได้รับโดยการแปลงหนี้เป็นทุน

3.เจ้าหนี้ที่ไม่มีสิทธิ์ขอรับชำระหนี้ ได้แก่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 33 บุคคลที่วางหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาไว้กับการบินไทย 46 ราย รวมหนี้ 107 ล้านบาท ผู้ทำแผนเห็นว่าบุคคลกลุ่มนี้ไม่ใช่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ตามกฏหมายได้ การส่งคืนหนังสือค้ำประกันเป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิม

รวมถึงเจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 เจ้าหนี้ภาระผูกพันจากการเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน ในส่วนที่ผู้ทำแผนเห็นว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ 48 ราย รวมหนี้ 191,525 ล้านบาท โดยผู้บริหารแผนเห็นว่ามูลหนี้นี้ยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นขอชำระหนี้ 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นักบิน “การบินไทย”โพสต์เศร้าใจหาย "เริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี"

"การบินไทย"ระส่ำสหภาพฯห้ามสมาชิกเซ็นสัญญาจ้างงานใหม่

"การบินไทย"ออกเกณฑ์คัดเลือก“แอร์-สจ๊วต” ที่ได้ไปต่อต้องอายุไม่เกิน 55 ปี-ไม่อ้วน

‘ชาญศิลป์’ จัดทัพ ไดเวอร์ซิฟาย ฟื้น‘การบินไทย’

"การบินไทย" เขย่าองค์กรโครงสร้างองค์กรใหม่ ปลดอีก6พันคน