นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้า จ.ระนอง เปิดเผยว่า เอกชนจังหวัดระนองต่างรอคอยอย่างมีความหวัง ว่าเมื่อสถานการณ์การแพ่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลจะเร่งเดินหน้า ขับเคลื่อนโครงการเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เนื่องจากจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นกุญแจการพัฒนาสำคัญในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) โดยจะเป็นโครงข่ายระบบขนส่งสำคัญ ที่เป็นหัวใจในการเชื่อมโยงการขนส่ง 2 ฝั่งทะเล โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะถูกหยิบยกมาดำเนินการทันที ไม่มีเหตุให้ต้องล่าช้า เพราะหากไม่มีโครงการลงทุนใหญ่ ๆ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็จะทำได้ยาก
“แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือการที่พื้นที่ยังขาดความพร้อมในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะพื้นฐานทางสังคม ที่ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่จะเคยชินกับวิถีแบบชาวบ้าน ไม่คุ้นชินกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรม อีกทั้งยังไม่มีแรงงานหรือทรัพยากรบุคคลที่มีความพร้อม อาจเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ปัญหาสังคมก็จะตามมา นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ไม่เฉพาะแต่พื้นที่ของจังหวัดระนอง ที่ปัจจุบันเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ยิ่งมีการขยายตัวของอุตสาหกรรม ปัญหาน้ำจะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ซึ่งรัฐต้องศึกษาพร้อมวางระบบควบคู่กับโครงการไปด้วย ส่วนที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุดคือระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ ที่ปัจจุบันมีเพียงภาคเดียวที่อากาศยังบริสุทธิ์ ดังนั้น การพัฒนาในยุคใหม่จะต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นการพัฒนานอกจากนำมาในเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะนำพาปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมากอีกด้วย”
นายนิตย์กล่าวต่อว่า การที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จ้างที่ปรึกษาตามที่ครม.อนุมัติ เพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) ถือว่าโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน และมีความมั่นใจว่าโครงการจะเกิดขึ้นจริง โดยที่ผ่านมา สนข.ได้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังรอการอนุมัติการดำเนินการจากคณะรัฐมนตรีในขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการขนส่งของไทย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเมืองท่าขนถ่ายสินค้าฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีเมืองท่าในย่านนี้
ขณะที่การพัฒนาท่าเรือระนองนั้น นายนิตย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผลักดันท่าเรือระนองให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน เชื่อมกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอลกับอาเซียน แม้ว่าขณะนี้จะได้หยุดให้บริการเนื่องจากขาดการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งที่เป็นระบบ แต่หากระบบรางหรือเส้นทางรถไฟมาเชื่อมต่อ จะสามารถเดินหน้าได้แน่นอน
อีกทั้ง กทท.ได้ปัดฝุ่นโครงการคอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ด ที่ จ.ชุมพรอีกครั้ง หลังโครงการหยุดชะงักมาระยะหนึ่ง โดยมีการพูดคุยกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะดำเนินการต่อในโครงการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนท่าเรือระนอง และจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการขนถ่ายสินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน ซึ่งจากการศึกษามีความเป็นไปได้สูง และลดต้นทุนมากกว่าการใช้ท่าเรือสิงคโปร์ รวมทั้งโครงการนี้เป็นไปได้มากกว่าเรื่องคอคอดกระมาก แต่ต้องมีการพัฒนาและสนับสนุนเป็นขั้นตอนจึงจะเกิดขึ้นได้
ที่มา : หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,661 วันที่ 14 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง