นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเผยแพร่มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอี (SMEs) เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ “THAI SME-GP@นนทบุรี” ว่า สสว. ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปีได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีดังกล่าว เป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 โดยมี สสว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบมาตรการดังกล่าว
สำหรับมาตรการดังกล่าวนี้กำหนดสิทธิประโยชน์ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างจากสินค้าและบริการจากเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 30% โดยต้องคัดเลือกเอสเอ็มอีในจังหวัดก่อนอย่างน้อย 3 ราย
และวิธีที่ 2 การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ซึ่งให้แต้มต่อเอสเอ็มอีไม่เกิน 10% โดยเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP สามารถเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ไม่เกิน 10% จะได้รับคัดเลือกอัตโนมัติ โดยเอสเอ็มอีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ต้องเป็นผู้ประกอบไทยที่เป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา หรือวิสาหกิจชุมชน ถ้าอยู่ในภาคการผลิต จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ถ้าอยู่ในภาคการค้าและภาคบริการ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ระหว่างปี 2561-2563 จะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีมูลค่า 1.098 ล้านล้านบาท ปี 2562 มีมูลค่า 1.098 ล้านล้านบาท และปี 2563 คือ 1.3 ล้านล้านบาท โดยสินค้าหรือบริการที่ภาครัฐซื้อหรือจ้างในลำดับต้นๆ ตามข้อมูลของกรมบัญชีกลางปี 2563 คือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ บริการทำความสะอาด อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริการดูแลต้นไม้และสนามหญ้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องใช้ในครัวเรือน
“จากการที่รัฐบาลออกกฎกระทรวงที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการของ SMEs ที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. ในวงเงินไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว นับเป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จึงเชิญชวนเอสเอ็มอีมาขึ้นทะเบียนกับ สสว. ซึ่งสามารถขึ้นได้ด้วยตัวเองได้ที่ www.thaismegp.com และขอให้เชิญชวนให้เอสเอ็มอีที่เป็นผู้ค้าขาย (Vendor) กับหน่วยงานภาครัฐอยู่แล้ว ต้องมาขึ้นทะเบียน THAI SME-GP กับ สสว. เพื่อได้รับประโยชน์จากโอกาสนี้ด้วย”
นายวีระพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า นับตั้งแต่มาตรการมีผลบังคับใช้เมื่อ 22 ธันวาคม 63 เป็นต้นมา สสว. ได้ดำเนินการให้ข้อมูลความรู้เพื่อขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมทางทางหลวง กองทัพอากาศ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ฯลฯ
รวมถึงจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาอุปสรรค เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 2 ครั้ง ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้มาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าภายในเดือนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน ประมาณ 10,000 ราย และสิ้นปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะมีจะมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนประมาณ 100,000 ราย
นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ของ สสว. นี้ นับเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะหน่วยงานภาครัฐเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อแน่นอน และการที่ สสว. เลือกมาดำเนินการจัดกิจกรรมใหญ่ครั้งแรกที่จังหวัดนนทบุรี ก็จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดนนทบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง เพราะจากข้อมูลพบว่า จังหวัดนนทบุรีมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพมหานคร
“จังหวัดนนทบุรี มีผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 75,180 ราย หากสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อให้มาขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. มากยิ่งขึ้นก็จะสร้างโอกาสให้ได้รับการซื้อหรือจ้างงานจากหน่วยงานของรัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปีได้มากขึ้นซึ่งเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้กิจการได้ดีอีกทางหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแห่งความสำเร็จของมาตรการคือ การมีข้อมูลและจำนวนสินค้า/บริการที่มากพอให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับความต้องการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :