การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ถึง ณ เวลานี้ แม้สถานการณ์จะคลี่คลายดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจเพราะยังมี การระบาดรอบใหม่ ในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ถือเป็นอีกภาคธุรกิจหนึ่งที่ได้รับ ผลกระทบอย่างรุนแรง จากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ทางศูนย์ฯ ประเมินมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในเมืองสมุนไพร 14 จังหวัด และจังหวัดเมืองท่องเที่ยว 12 จังหวัดของไทย ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2564 (12 จังหวัดท่องเที่ยวกำหนดตามกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อยุธยา เพชรบุรี ชลบุรี ภูเก็ต บุรีรัมย์ พัทลุง สุโขทัย อุบลราชธานี พังงา และแม่ฮ่องสอน และ 14 จังหวัดสมุนไพร กำหนดตามยุทธศาสตร์สมุนไพร ได้แก่ เชียงราย สกลนคร ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก อุทัยธานี นครปฐม สระบุรี มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ สงขลา จันทบุรี และอุดรธานี)
ล่าสุดงานวิจัยได้แล้วเสร็จ โดยได้วิเคราะห์ ผลกระทบรายได้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จากโควิด-19 ในปี 2563 แบ่งออกเป็นรายได้จากการบริการได้แก่ ธุรกิจสปา รีสอร์ท/โรงแรม นวดแผนไทย และฟิตเนส และรายได้จากผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ร้านสุขภาพ สปา นวดแผนไทย ร้านโอท็อป
โดยผลการศึกษาพบว่า โควิด ปี 2563 ทำรายได้รวมของธุรกิจบริการสุขภาพใน 14 จังหวัดสมุนไพรลดลงจาก 27,687 ล้านบาท (ในปี 2562) เหลือ 12,008 ล้านบาท (-56.6%) ขณะที่รายได้รวมของธุรกิจบริการสุขภาพใน 12 จังหวัดท่องเที่ยวลดลงจาก 195,224 ล้านบาท เหลือ 86,367 ล้านบาท (-55.8%) โดยภาพรวมรายได้จากการบริการและรายได้จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเมืองสมุนไพร 14 จังหวัด และเมืองท่องเที่ยว 12 จังหวัดในปี 2563 มีมูลค่ารวม 98,375 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวม 222,911 ล้านบาท ลดลง 124,536 ล้านบาท หรือลดลง 55.8%
“ผลกระทบหลักมาจากโควิด-19 เพราะทำให้ต่างชาติที่เป็นลูกค้าหลักใน ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้โดยเฉพาะจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ โดยกลุ่มธุรกิจสุขภาพของ 12 จังหวัดท่องเที่ยว พบว่าธุรกิจบริการสุขภาพที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ธุรกิจสปา ตามด้วยรีสอร์ท/โรงแรม และนวดแผนไทย ส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพพบว่า ร้านอาหารสุขภาพได้รับกระทบมากสุด ตามด้วยสปา และนวดแผนไทย (เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา ได้รับผลกระทบสูงสุด)
ด้านนายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า ธุรกิจสปาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี มีร้านนวดสปาที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มากกว่า 8,000 แห่ง (มีที่อยู่นอกระบบไม่มีใบอนุญาตอีกจำนวนมาก) โดยมีแรงงานด้านสปาที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพรวมกว่า 3 แสนคน สถานภาพ ณ ปัจจุบันมีร้านนวดสปาปิดตัวถาวรจากผลกระทบโควิดไปแล้ว 30-40% ส่งผลให้แรงงานต้องตกงานจำนวนมาก
“ธุรกิจสปาหรือธุรกิจอื่น ๆ จะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ขึ้นกับวัคซีนที่เป็นความหวังของทั่วโลก ซึ่งปลายปีนี้อาจมีความหวังจากกลุ่มประเทศที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากรที่จะเดินทางเข้ามาโดยมีวัคซีนพาสปอร์ตรับรอง ขณะที่การฉีดวัคซีนของไทยก็ต้องครอบคลุม อย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากรในพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดท่องเที่ยวที่จะเปิดรับต่างชาติด้วยเพื่อสร้างมั่นใจของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดีจากธุรกิจสปาของไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เวลานี้มีกลุ่มทุนต่างชาติทั้งจากจีน ยุโรปสบจังหวะติดต่อเข้ามาซื้อกิจการที่ประสบปัญหา ซึ่งต้องจับตาต่อไป”
ข่าวหน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สธ.-ท่องเที่ยวฯ” จับมือขับเคลื่อนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4 ภาค
โควิด-19 ผลกระทบต่อความท้าทาย โอกาสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบสร้างสรรค์ (2)
คกก.Medical Hub เตรียมพร้อมรับ "การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ"
คกก.“เมดิคอลฮับ" เตรียมพร้อมรับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หลังโควิด-19 คลี่คลาย
ไทยกับโอกาสในธุรกิจ ‘ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ ที่ไนจีเรีย