การบินไทย ปิดศูนย์ซ่อมอู่ตะเภามีผล 31 มีนาคมนี้ เหตุจากบอร์ดอีอีซี ต้องใช้พื้นที่สร้างรันเวย์ 2 ตามแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยจะมีการย้ายอุปกรณ์รวมถึงพนักงานกว่า 300 คนเข้ามาทำงานที่ศูนย์ซ่อมใหญ่ดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งรื้อระบบจ่ายโอทีใหม่ ส่วนแผนลงทุน MRO อู่ตะเภา ยังขอศึกษาเพิ่มเติม
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวย การใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการบินไทยจะดำเนินการปิดศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา
เนื่องจากพื้นที่ของโรงซ่อมบำรุงอากาศยาน (แฮงการ์) ในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เป็นที่พื้นที่ก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 (รันเวย์) ตามแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
ดังนั้นก็จะมีการย้ายพนักงานและอุปกรณ์ทั้งหมดที่อู่ตะเภาไปยังศูนย์ซ่อมใหญ่ดอนเมือง และศูนย์ซ่อมที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีแผนในการย้ายออกไว้หมดแล้ว
ส่วนพนักงานที่ไม่มีความประสงค์ที่ย้ายออกมา ทางบริษัทก็อยู่ระหว่างเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan-MSP) ก็เป็นทางเลือกของพนักงานที่จะสมัครใจลาออกและรับเงินชดเชยไปได้
ส่วนแผนการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO อู่ตะเภา) ต้องยอมรับว่าเป็นการลงทุนสูง ทำให้ในการเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ เราก็จะมีระบุไว้ในแผนฟื้นฟูว่าการบินไทยจะขอพิจารณาศึกษาการลงทุน MRO อู่ตะเภาก่อน
เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจอาจจะไม่ได้รุ่งเรืองตามแผนการลงทุนเดิมที่วางไว้ การบินไทยจึงขอเวลาในการศึกษาเพิ่มเติมก่อน
สำหรับแผนในการสร้างรายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งที่ดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเดิมก็ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานเครื่องบินของการบินไทยและสายการบินลูกค้าต่างๆ อยู่แล้ว
ต่อไปก็จะมีการสร้างรายได้จากฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเวลาคิดค่าใช่จ่าย คิดราคาบริการ จะมีหน่วยงานด้านมาร์เกตติ้งเข้า เพื่อไปหาลูกค้าเข้ามา หรือจะไปร่วมลงทุนกับผู้เชี่ยวชาญหรือลูกค้า เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้โมเดลนี้จะถูกดูแลโดยสายงานกลยุทธองค์กร ซึ่งตรงนี้เราทำแน่นอน และทำให้มีกำไรกลับมาให้ได้ เพราะเรามีช่างเก่ง แต่เรามีวิธีการจัดการเรื่องสต็อก วิธีการจัดการเรื่องการซ่อม ทำเรื่องโปรเจ็กต์ แมเนจเม้นท์ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ดูแลการคิดราคาที่เหมาสะสมได้มาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพก็มีโอกาสที่จะทำกำไรได้มาก นายชาญศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปัญหาที่มาของฝ่ายช่าง ที่ทำให้ไม่สามารถทำกำไรได้ เหตุผลหลักคือ ค่าล่วงเวลาหรือค่าโอที ที่สูง ทำให้การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ของการบินไทย บริษัทได้ปรับเกณฑ์ใหม่ เปลี่ยนมาคำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง แทนรูปแบบเดิมที่คำนวณจาก อัตราเงินเดือนค่าจ้าง/ชั่วโมง
โดยอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง จะคำนวณจากอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง หารด้วย 240 (จำนวนชั่วโมงการทำงานในแต่ละวัน 8 ชั่วโมง คูณ ด้วยจำนวนวันใน 1 เดือน) ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่คำนวณจาก อัตราเงินเดือนค่าจ้าง/ชั่วโมง หารด้วย 173 ซึ่งจะเห็นว่าจำนวนของตัวหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าล่วงเวลาที่คิดโดยใช้เกณฑ์ใหม่ปรับลดลงจากเดิม 50%
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 การบินไทยยังได้ออกประกาศแจ้งการปิดศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาแล้ว โดยระบุว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แจ้งให้บริษัทการบินไทย ทราบความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ศูนย์ซ่อมอากาศ ยานแห่งที่ 2 (อู่ตะเภา) ที่บริษัท การบินไทย เช่าอยู่ตามสัญญา เพื่อใช้ก่อสร้างทางวิ่งที่ 2และอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 3 ในปี 2564
ให้สอดคล้องกับแผนดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการเพื่อประโยชน์ของรัฐ
ดังนั้นสกพอ. ต้องใช้ที่ดินดังกล่าว โดยได้บอกเลิกสัญญาเช่า และสัญญาเช่าสิ้นสุดลงวันที่ 28 ก.พ. 2564 พร้อม ทั้งนี้สกพอ.ขอให้ บริษัท การบินไทย รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งขนย้ายทรัพย์สินของบริษัทฯ หรือของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองออกจากที่ดินเช่า และส่งมอบที่ดินเช่าให้ สกพอ. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง
ที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2564 จึงมติให้บริษัทการบินไทย ปิดศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โดยให้มีผลวันที่ 31 มี.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งพนักงานที่ทำงานอยู่ที่อู่ตะเภามีทั้งหมดราว 300 คน
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564
อีกทั้งล่าสุดทางเพจรักคุณเท่าฟ้า ยังได้โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่างานเลี้ยง ย่อมมีวันเลิกลาขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 15 วัน
ศูนย์ซ่อมใหญ่อากาศยานอู่ตะเภา (UTP) ก็จะครบกำหนดปิดตัวลง หลังจากที่สำนัก งานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขอแจ้งยกเลิกการใช้เช่าพื้นที่และขอให้ย้ายศูนย์ออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมส่งมอบที่ดินนำไปพัฒนาเมืองการบิน
ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรที่ทรงคุณค่ากว่า 300 ชีวิตให้ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยดี
และขอขอบพระคุณเครดิตภาพจากคุณ Navin Nualaroon
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :