ผนึกสภาอุตฯ-สภาหอฯ คิกออฟ SME คนละครึ่ง สสว.ลั่นช่วยคนแข็งแรง

11 เม.ย. 2564 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2564 | 12:09 น.

สสว.ผนึกสภาอุตฯ-สภาหอฯนำร่องโครงการ “SME คนละครึ่ง” เมษาฯนี้ ชิมลางทดสอบปัญหาอุปสรรค ระบุเน้นกลุ่มที่ยังแข็งแรงและต่อยอดธุรกิจได้ ช่วยก้าวผ่านการทำตลาดรูปแบบเดิมสู่ช่องทางใหม่ใช้นวัตกรรม-เทคโนโลยีตัวนำ  

 

 

วันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ที่มีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติมาตรการ SME คนละครึ่ง โดยจะให้เงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) สัดส่วนตั้งแต่ 50-80% สำหรับค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการปรึกษา ทางธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมถึงค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น 

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร (ประธานบอร์ด) (สสว.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สสว. เตรียมที่จะดำเนินการนำร่องโครงการ “SME คนละครึ่ง” ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อทดสอบว่ามีปัญหา หรืออุปสรรคทางด้านใดบ้าง โดยจะนำมาซึ่งแนวทางที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในลำดับต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม 

ทั้งนี้ วงเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวอาจจะไม่ใช่จำนวนที่มากมายเท่าใดนัก  โดยขณะนี้ทางคณะกรรมการฯกำลังอยู่ในขั้นตอนของการกำหนดวงเงินที่เหมาะสม ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการ สสว. ต้องการที่จะมุ่งเน้นให้เอสเอ็มอีได้เข้าสู่การทำตลาดแบบช่องทางใหม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เช่น เรื่องคุณภาพ และแพ็กเกจจิ้ง เป็นต้น โดยจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ  

“ด้วยความที่วงเงินในการที่จะใช้นำร่องโครงการจะใช้จำนวนไม่มาก ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบครอบ เพื่อให้สามารถวัดประสิทธิผลของการดำเนินโครงการได้” 

สำหรับเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการอาจจะเป็นการขอใบรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), การพัฒนาแพ็กเกจจิ้ง เพื่อเพิ่มอายุของผลิตภัณฑ์ และความน่าสนใจให้กับผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่ช่องทางดีลิเวอรี และโลจิสติกส์ 

นายมงคล กล่าวอีกว่า จากเสียงสะท้อนที่มองว่าโครงการดังกล่าวอาจจะเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงจุด หรือเกาไม่ถูกที่คันนั้น ต้องเรียนตามความจริงว่า วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มที่แข็งแรง หรือกลุ่มที่จะสามารถดำเนินธุรกิจให้ต่อยอดได้ โดยต้องการให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามการทำตลาดในรูปแบบเดิมไปสู่การทำตลาดบนช่องทางใหม่ ซึ่งจะเป็นการนำนวัตกรรม หรือเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์เข้ามาปรับประยุกต์ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ 

“ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเอสเอ็มอีมีอยู่หลากหลายกลุ่ม เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทดลองดำเนินโครงการเพื่อให้ได้แนวทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยอาจจะเป็นกลุ่มที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงอาหารที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ก็มีปัญหาสภาพคล่อง การรักษาสภาพการจ้างงาน โดย สสว. เองก็ต้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างระมัดระวัง ซึ่งกระบวนการช่วยเหลือจะต้องมีความชัดเจน” 

นายมงคล กล่าวอีกว่า โครงสร้างเอสเอ็มอีในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา โดยเอสเอ็มอีรายกลางที่มียอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาท กลุ่มการค้าการบริการไม่เกิน 300 ล้านบาทมีอยู่ประมาณ 40,000 กิจการ ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีมีถึง 400,000 กิจการ ส่วนกลุ่มที่มียอดขายตํ่ากว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีมีอยู่ประมาณ 4 ล้านกิจการ เพราะฉะนั้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าจะช่วยไหนอย่างไร โดยกลุ่มที่มีการจ้างงานมากจะมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง 

“มาเลเซีย และสิงคโปร์มีการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากรายเล็กให้กลายเป็นรายกลาง โดยมองว่ายุคต่อไปเอสเอ็มอีจะต้องส่งออกได้ เพราะสินค้าและบริการ รวมถึงนักท่องเที่ยวอีกประมาณ 3 ปีก็อาจจะยังไม่ฟื้น หรือ 10 ปีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้  หากโควิด-19 ยังอยู่ โดยโครงสร้างนักท่องเที่ยงต่างชาติก่อนเกิดโควิดมีถึง 40 ล้านคนหลังเข้ามาอีกหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องขบคิดว่าจะทำโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใด” 

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของไทยก็คือเรื่องของอาหารชีวภาพ หรือเกษตรอาหารที่จะแปรรูป ซึ่งปัจจุบันมีการแปรูปเพียง 5% เท่านั้น โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564