นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินการร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ในเครือข่ายเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐภายใต้ระบบ THAI SME-GP หรือ www.thaismegp.com โดยเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้า ขึ้นทะเบียนรายชื่อและรายการสินค้าและบริการในระบบ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกว่า 10,000 ราย โดยที่ผ่านมา สสว. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตามที่มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา
สำหรับมาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าที่จะเกิดกับเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งกฎกระทรวงฯ กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาของรัฐ ฯลฯ คิดเป็นหน่วยจัดซื้อถึง 114,532 หน่วยทั่วประเทศ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า/บริการจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. หรือระบบ THAI SME-GP ในวงเงินไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว
โดยสิทธิประโยชน์ที่เอสเอ็มอี จะได้รับผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 2 วิธี คือ 1.วิธีคัดเลือก ซึ่งเพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีในท้องถิ่น โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ คัดเลือกสินค้า/บริการของเอสเอ็มอี ในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งของหน่วยงานจำนวนไม่น้อยกว่า 3 รายก่อน หากไม่มี หรือมีไม่ครบจึงหาจากพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างไว้กับ สสว. คือบริษัท ค๊อกโค่ (ไทยแลนด์) จังหวัดน่าน ได้รับการซื้อสินค้าจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเรียบร้อยแล้ว
2.วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการให้แต้มต่อไม่เกินร้อยละ 10 กับ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ
“เอสเอ็มอีที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการ จะต้องเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา หรือวิสาหกิจชุมชน ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามนิยาม SME ที่ สสว. กำหนด คือ หากอยู่ในภาคการผลิต จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนภาคการค้าและบริการ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี ที่สำคัญจะต้องขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP”
อย่างไรก็ดี ระบบ THAI SME-GP ได้มีการพัฒนาเมื่อปลายปี 2563 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนในระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยภาคธุรกิจที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุด คือ ภาคบริการ ส่วนสินค้าที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน 2.เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง 3.ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง 4.เทคโนโลยีและสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม และ 5.บริการด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร ส่วนจังหวัดที่มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง อว. จะร่วมขับเคลื่อนมาตรการ THAI SME-GP ของ สสว. ให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่จะร่วมเป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้และการขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ไปสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ขณะที่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยและหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. กว่า 100 หน่วยงาน รวมถึงศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวง อว. มีไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ทั่วประเทศ จะเป็นกลุ่มนำร่องที่จะได้รับการแนะนำ อบรม ช่วยเหลือให้ขึ้นทะเบียนในระบบเพื่อรับโอกาสการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ ซึ่งเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเอสเอ็มอีอีกทางหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :