วันที่ 22 เม.ย. 64 “ฐานทอล์ค” ลึกแต่ไม่ลับ ว่าด้วย “การเจรจาความเมืองธุรกิจแสนล้าน” กำลังเข้าไปสู่โหมดของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระลอกนี้คือปรากฎการณ์ที่กลุ่ม “คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี” ซีอีโอ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ซึ่งซื้อหุ้น INTUCH ร่วม 18%
นี่คือตัวเลขที่มีการเปิดเผย ไม่แน่ใจว่าจริงๆจะมี พร็อกซี่ มี นอมินี่อยู่มากน้อยแค่ไหน
ว่ากันว่าในขณะที่ กลุ่มคุณสารัชถ์ ค่อยๆซื้อหุ้น INTUCH นั้น มีการพูดคุยกันอยู่ในชนชั้น Elite ของประเทศระดับบน บอกว่าเจ้าสัวใหญ่ “คุณธนินท์ เจียรวนนท์” ได้เชิญเจ้าสัวเล็ก “คุณสารัชถ์” ไปจิบน้ำชาพูดคุยว่าด้วยเรื่องการเจรจาความเมืองเรื่องของธุรกิจ
ข้อมูลลึกแต่ไม่ลับบอกเราว่า วันนั้นเจ้าสัวสารัชถ์ หรือ เสี่ยกลาง พาลูกชายไปรับฟังการเจรจาความเมืองเรื่องธุรกิจด้วย
เขาเจรจาสอบถามพูดคุยอ้อมค่ายกันในทางฉันท์มิตร แต่ปลายทางคืออยากรู้ว่าที่คุณสารัชถ์ซื้อหุ้นอินทัชนั้น มีวัตถุประสงค์อันใดละน้องเอย
ข้อมูลลึกแต่ไม่ลับบอกเราว่าฝ่ายที่เชิญไปวิตกกังวลมาก เพราะมันมีปัญหา..
เพราะปัจจุบันธุรกิจมือถือ โอเปเรเตอร์ใหญ่บ้านเรามีอยู่ 3 ราย คือ TRUE AIS และ DTAC
การที่กลุ่มคุณสารัชถ์ซึ่งต้องบอกว่าในช่วงระยะเวลา 15 -17 ปีที่ผ่านมา อาณาจักรด้านพลังงานเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้น “เสี่ยกลาง” ก็ค่อยๆขยายบทบาทในการลงทุนในกิจการต่างๆ แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดของการลงทุนคือด้านพลังงาน
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่ต้องถือเงินสด ต้องมีการลงทุนค่อนข้างเยอะ
แต่ทั้งนี้ปรากฏการณ์ของ คุณสารัชถ์ ซื้อหุ้น INTUCH มาโดยตลอด
การเข้าไปถือหุ้นINTUCH ที่เป็นตัวแม่ของกลุ่ม AIS มันสะท้านโอเปเรเตอร์ นี่จึงเป็นที่มาของการเจรจาความเมือง ว่าด้วยเรื่องของธุรกิจมือถือ
ไม่แน่ใจว่าเจ้าสัวธนินท์ จะได้คำตอบจากคุณสารัชถ์แค่ไหน แต่รู้ได้ว่ามีการบอกไปชัดเจนว่า “ลงทุนเพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจ และเอไอเอสมีผลตอบแทนที่น่าสนใจ”
และถ้าถือหุ้นของ INTUCH หมายถึงว่า GULF ลงทุนหุ้นตัวเดียว แต่จะได้กรรมสิทธิ์ในธุรกิจโทรคมนาคม 3 ตัว คือ INTUCH AIS และTHAICOM
ตอนนี้คุณสารัชถ์ประกาศชัดเจนว่าจะตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่สนใจที่จะขายในราคาตลาด
ถ้าจะซื้อ จะซื้อเท่าไร?
เขาว่างวดนี้ถ้ามีการตั้งโต๊ะรับซื้อ INTUCH และ ADVANC จะใช้เงินเป็นแสนแสนล้าน
ถ้า GULF ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้น INTUCH ใช้เงิน 168,975.95 ล้านบาท
ถ้าเทนแดอร์ออฟเฟอร์หุ้น ADVANC จำนวน 2,973.55 ล้านบาท ถ้าซื้อราคาที่ 122 บาท จะใช้เงิน 362,773 ล้านบาท
รวมการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้น INTUCH และ ADVANC ใช้เงินทั้งสิ้น 531,749.05 ล้านบาท
มหึมาที่สุด มากกว่าการที่เจ้าสัวธนินทร์นำเงินซีพีไปซื้อเทสโกโลตัสอีก
เรื่องนี้ความชัดเจนอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือสิงเทล (Singapore Telecommunications Limited : SINGTEL) ที่ถือหุ้นแทนเทมาเส็ก ประกาศชัดว่าจะไม่ขายหุ้นในส่วนของ INTUCH และADVANC ออกไป
เพราะอะไรรู้ไหม?
เพราะธุรกิจมือถือของเอไอเอส นับตั้งแต่กลุ่มเทมาเส็ก ซื้อหุ้นเอไอเอสมาจาก “ทักษิณ ชินวัตร” 7.3 หมื่นล้านบาท เทมาเส็กคือกองทุนของสิงค์โปร์ ที่แปลสภาพมาเป็นสิงเทล มีแต่ได้เงินกลับไป
ส่วน AVANC และ INTUCH น่าจะเป็นบริษัทเดียวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำไรปีละเท่าไร ปันผลคืนผู้ถือหุ้น 100% ทุกปี
ท่ามกลางข่าวลือ ข่าวอ้างกันในตลาดและ Fund manager ว่า นี่คือการทำงานธุรกิจแบบการขายหุ้น ขายฝากไว้ แล้ว Buy back ในอนาคต
ผู้ถือหุ้นทำธุรกิจได้เท่าไรก็ปันผลคืนผู้ถือหุ้นทุกบาททุกสตางค์ และถ้าจะลงทุนต่อค่อยตั้งงบแล้วกู้มาลงทุน นี่คือธุรกิจมือถือ
ตอนนี้ต้องรอลุ้นว่ากัลฟ์ จะซื้ออินทัชและเอไอเอสผ่านการตั้งโต๊ะจากผู้ถือหุ้น จากกองทุนได้มากน้อยแค่ไหน
แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและชัดเจนที่สุด เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของไทย คือ คุณสารัชถ์ ปักธงเรียบร้อยแล้วว่า ธุรกิจของกัลฟ์จะขยับออกไปจากพลังงาน 100% ไปสู่ธุรกิจมือถือ ธุรกิจโอเปเรเตอร์ และธุรกิจที่เกี่ยวพันกับดิจิทัล
และถ้าเป็นแบบนั้น ถ้าทำสำเร็จ ธุรกิจของกัลฟ์จะเป็นธุรกิจแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีมูลค่าตลาด หรือ มาร์เกตแคปสูงถึง 1,071,398 ล้านบาท ถ้าซื้อธุรกิจของอินทัชและ ADVANC ได้ แยกเป็น
รอบนี้รอดูกันว่า การเจรจาความเมืองเรื่องธุรกิจมือถือ “ลื้อซื้อไปทำอะไร” มันจะจบที่ไหน ไม่ช้าไม่นานเรื่องนี้คนไทยจะได้เห็น
แล้วทีนี้มาดูเรื่องการเจรจาความเมืองว่าด้วยเรื่องธุรกิจค้าปลีก
เรื่องนี้ลึกลับฉบับสะท้านไปทั้งทำเนียบรัฐบาล มีเสียงเล็ดลอดออกมาบอกว่ามีความพยายามของกลุ่มทุน ที่ไปซื้อหุ้น เทสโกโลตัสมา แล้วเจอปัญหาว่าด้วยเรื่องของสังคมบอกว่าซื้อคนเดียว กินคนเดียว คุมคนเดียว มีอำนาจเหนือตลาด เข้าข่ายผูกขาดในการแข่งขัน
จะทำอย่างไรในเมื่อธุรกิจนี้เป็นลูกของตัวเองที่ลงทุนแล้วจำใจขายจากพิษของค่าเงินบาท
ตอนนี้ต้องกลับไปซื้อลูกมาดูแลเอง และทำธุรกิจค้าปลีกใหญ่ในเมืองไทย แต่ตัวเอง มีธุรกิจ แมคโคร เซเว่นอีเลฟเว่น เมื่อไปซื้อเทสโกโลตัสมา ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในมือ มันครอบคลุมเหนือตลาด เข้าข่ายผูกขาดอำนาจครอบตลาด
กลุ่มซีพี ไปซื้อเทสโกโลตัส ตอนนั้นคิดเป็นมูลค่า 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เท่ากับ 338,445 ล้านบาท
เครือซีพีได้จัดตั้งบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด มาทำการซื้อขาย ถือหุ้นโดย เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง 40% บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL) 40% และ บริษัท ซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด 20%
คราวนี้พอซื้อมาแล้ว เจอมรสุมว่ากันว่าสะท้านไปทั้งทำเนียบรัฐบาล เมื่อมีการร้องขอไปบอกว่าควรที่จะรัฐวิสาหกิจของไทยรายหนึ่ง มาซื้อหุ้นในส่วนของห้างสรรพสินค้าที่ตัวเองถืออยู่ออกไป สัก 30-35% เถอะ
เลยทำตัวเลขมาให้ดูว่า ถ้าซื้อเทสโกโลตัสมา 338,445 ล้านบาท ถ้าขายออกไป 30-35% เท่ากับว่าจะได้เงินมาลดภาระการกู้ยืม 101,533 – 118,455 ล้านบาท
ลองคิดดอกเบี้ยแค่ 3% พอ ร้อยละ 3 พันละ 30 หมื่นละ 300 แสนละ 3,000 นั่นหมายถึงสามารถลดดอกเบี้ยในการจ่ายเงินกู้ปีนึงได้ 3,000 ล้านได้ทันที
เกมนี้จะเป็นเกมโอเวอร์หรือไม่ จะเป็นเกมที่เดินหน้าต่อไปหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่กระจิบกระจาบ พิราบน้อยที่ทำเนียบรัฐบาล เขารู้ เขาได้ยินกันว่า เกมนี้เป็น Mission impossible เพื่อลดโทนว่ามีอำนาจเหนือตลาด สามารถมีพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมหุ้น ร่วมทุน ลดแรงปะทะจากสังคมว่าซื้อมาแล้วมีอำนาจผูกขาดตัดตอน
ไปดูกันว่า เกมนี้จะออกประตูไหน จาก 2 ประตู คือ 1.ไม่เกิดขึ้น 2.เดินหน้าต่อไป แต่ทุกอย่างต้องมีคำตอบในเรื่องราวเหล่านี้
แต่เรื่องนี้มีการเจรจากันซึ่งหน้าจริงๆ ทั้งในระดับรัฐมนตรี และระดับของผู้บริหาร
และการเจรจาความเมืองเรื่องสุดท้ายในธุรกิจการบิน
อื้ออึงถึงขนาดว่า คณะกรรมการและคณะผู้ทำแผนของการบินไทย ทำอะไรไม่ได้ นอกจากอ้าปากค้าง
เพราะเป็นปรากฏการณ์มีมือดีสั่งล้มโต๊ะ...
ในขณะที่การบินไทย ปลดเปลื้องพันธนาการความเป็นรัฐวิสาหกิจ เดินหน้าไปสู่โหมดฟื้นฟูธุรกิจ กิจการและยื่นทำแผนต่อศาล ตั้งคณะผู้ทำแผนเสนอผู้ทำแผนไปบริหาร และรอเจ้าหนี้โหวตรับแผนอยู่นั้น
สถานะของการบินไทยกลายเป็นบริษัทที่มีสถานะย่ำแย่ ไม่มีความน่าเชื่อถือ จึงเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูกิจการ
ในขณะที่ย่ำแย่อยู่นั้นมีสัญญาในการบริหารพื้นที่ด้านภาคพื้น (กราวด์) และสัญญาในการบริหารพื้นที่ด้านคลังสินค้า อยู่ที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต
สัญญานี้จะหมดสิ้นสัญญากันจริงๆวันที่ 30 เม.ย. 64 ปรากฏว่ามีมือดีสั่งล้มโต๊ะไม่ให้การบินไทยบริหารภาคพื้นและบริการคลังสินค้าสนามบินภูเก็ตในวันที่ 30 เม.ย. 64 นี้อีกต่อไป
เหตุผลง่ายๆเพราะสถานะของการบินไทยขาดคุณสมบัติ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ขัดต่อหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแลไว้ ว่าควรทำธุรกิจกับใครและเช่นไร
วันนี้ลึกแต่ไม่ลับ ได้ฉายภาพให้เห็นเรื่องราวเรื่องใหญ่ ในประเทศนี้ 3 เรื่อง 3 รส ต้องติดตามกันว่า การเจรจาความเมืองและการล้มโต๊ะ จะออกหัวหรือก้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :