“การบินไทย”พ้นรัฐวิสาหกิจ 47สัญญาที่มีกับทอท.ระส่ำ 

28 เม.ย. 2564 | 18:10 น.

“การบินไทย” อ่วม 47 สัญญาทำธุรกิจใน 6 สนามบินของทอท.สะเทือน เหตุติดล็อกข้อกม.หมดสิทธิ์ต่อสัญญา-แก้ไขสัญญาตามที่ร้องขอ  ชี้มี 2 ทางเลือกหากยังจะทำธุรกิจต่อคือต้องเข้าPPPหรือร่วมทุนกับทอท. ด้าน“ศักดิ์สยาม”ยันยึดข้อกม.เป็นหลัก “ชาญศิลป์”เร่งเจรจาค้างหนี้ทอท.5.3 พันล้านบาท

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)มีสัญญาการให้สิทธิประกอบกิจการในพื้นที่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.รวม 47 สัญญา

แม้ว่าที่ผ่านมาการบินไทยได้ขอความช่วยเหลือไปยังคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขอสนับสนุนการแก้ไขสัญญาต่างๆ เพื่อให้การบินไทยดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

แต่ท้ายสุดก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่อง จากติดล็อกข้อกม.จากการที่การบินไทยพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 ทอท.ได้แจ้งสิ้นสุดสัญญาอนุญาตให้การบินไทยประกอบกิจการการให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้าท่าอากาศยานภูเก็ต ที่จะหมดสัญญาไปในวันที่ 30 เม.ย.นี้ และจะมีอีกหลายสัญญาที่จะทยอยหมดอายุตามมา

หากการบินไทยต้องการดำเนินธุรกิจต่อกับทอท.ก็จะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ 1.การเข้าร่วมประมูลตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 หรือ 2.การร่วมลงทุนกับทอท.หรือบริษัทลูกของทอท.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐ กิจ”ว่าผมได้รับรายงานจากทอท.เรื่องการไม่ต่อสัญญาการบริการที่สนามบินภูเก็ตแล้ว  ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เนื่องจากการบินไทยพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 กลายสภาพเป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) ซึ่งสัญญาการให้บริการภาคพื้น ของการบินไทยที่ท่าอากาศยานภูเก็ต จะสิ้นสุดในวันที่ 29 เมษายน2564

ก่อนหน้านี้การบินไทยได้ยื่นขอต่ออายุสัญญาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากบริษัทพ้นสถานะความเป็นรัฐวิสาห กิจไปแล้ว

ทางบอร์ดทอท.ก็มีการพิจารณาเรื่องนี้ในภาพรวมว่าการบริการด้านภาคพื้นเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะสนามบินภูเก็ต ยังเปิดให้บริการอยู่ ก็ได้ให้ฝ่ายบริหารทอท.ไปหารือกับทางการบินไทยมาโดยตลอด

โดยทอท.ก็ยินดีให้การบินไทยเข้ามาร่วมลงทุนได้ แต่ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี62 สำหรับโครงการนี้ ที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 5 พันล้านบาท แต่การบินไทยก็ไม่ได้ดำเนินการดำเนินการตามกม.PPP 

“ที่ผ่านมาผมก็สั่งทอท.ให้ไปประสานงานกับการบินไทยให้ดีในเรื่องนี้ ถ้าการบินไทยจะเข้ามาก็ไม่ได้มีข้อขัดข้อง แต่ต้องเข้ามาตามขั้นตอนของกม.ตามคุณสมบัติต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่ใช่จะเข้ามาทำแต่ไม่พร้อม

ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ การดำเนินการใดๆก็ต้องยึดข้อกม.และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาก็รอการบินไทยแล้ว แต่เมื่อการบิน ไทยไม่มาเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการบริการ ทอท.จึงให้ทางบริษัทลูกเข้ามาดำเนินธุรกิจแทน” 

“การบินไทย”พ้นรัฐวิสาหกิจ 47สัญญาที่มีกับทอท.ระส่ำ 

ในส่วนของภาระหนี้สินของการบินไทยที่มีกับทอท.นั้น ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเจรจา ส่วนการขอความช่วยเหลือที่มีมายังกระทรวงคมนาคมนั้น เราคงต้องยึดข้อกฏหมายเป็นสำคัญ

อะไรที่กม.ไม่อนุญาตก็คงไม่สามารถทำได้ แต่สิ่งไหนที่ทำร่วมกันได้ทอท.ก็ไม่ได้ขัดข้องที่จะทำงานร่วมกับการบินไทยอยู่แล้ว นายศักดิ์สยามกล่าวทิ้งท้าย 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยไม่ได้เข้าไปร่วมPPP ในงานให้บริการภาคพื้นและคาร์โก้ที่สนามบินภูเก็ต

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

เนื่องจากต้องให้ความสำคัญเรื่องการเตรียมตัวเรื่องเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า ที่จะไปดำเนินการPPP ซึ่งต้องใช้เวลานาน หรือแม้แต่การร่วมลงทุน ก็ยังต้องใช้เวลา

ขณะเดียวกันดีมานต์การให้บริการภาคพื้นหลังโควิด-19 ก็มีน้อยมาก เราจึงไม่ได้ไปดำเนินการต่อ ทอท.จึงไม่ได้ต่อสัญญาให้ ไม่ได้มีเรื่องของความขัดแย้งกันแต่อย่างใด

อีกทั้งการบินไทยและทอท.ก็มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อเจรจาการหาทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นที่ก็จะมีเกือบทุกสนามบินที่มีต้องเกี่ยวข้องกัน

อย่างที่สนามบินภูเก็ต ถ้าการบินไทยเข้าไปทำการบินก็สามารถบริการภาคพื้นให้ตัวเอง(Self Handling)ได้ รวมไปถึงยังมีเรื่องการเจรจาหนี้สินต่างๆที่การบินไทยค้างทอท.อยู่ ซึ่งทอท.มีการเสนอตัวเลขมา แต่เราก็ยังอยู่ระหว่างเจรจากันเช่นกัน 

ข้อเสนอการบินไทย

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.กล่าวว่าการให้บริษัทบริการภาคพื้นท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOTGA) เข้ามาให้บริการที่สนามบินภูเก็ตต่อจากการบินไทยที่หมดสัญญาไป

นิตินัย ศิริสมรรถการ AOTGA จะเข้ามาดำเนินการเป็นเวลา 20 ปีซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการppp และต่อไปก็ยังมีสัญญาต่างๆของการบินไทยก็จะที่ทยอยหมดอายุไปเรื่อยๆ 

 

ที่ผ่านมาบอร์ดทอท.ก็มีมติตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.63 ว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดโอกาสให้การบินไทยสามารถเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทร่วมของ ทอท.ได้ในอนาคต หรือหากการบินไทยไม่ประสงค์จะร่วมทุนฯ ก็สามารถยื่นความจำนงเข้าขอประกอบกิจการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดได้ต่อไป

“ทอท.ไม่ได้โหดร้ายกับการบินไทยเลย แต่ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจการดำเนินการต้องยึดกม.เป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันเราก็เจรจากับการบินไทยอยู่ตลอด เพราะการบินไทยก็เป็นลูกค้าสำคัญของทอท.เพื่อหาทางออกร่วมกัน”

ส่วนหนี้ที่การบินไทยค้างทอท.อยู่ที่5,300 ล้านบาท กว่า 4 พันล้านบาทเป็นหนี้ค่าเช่าพื้นที่ฝ่ายช่างของการบินไทยที่ดอนเมืองนั้น ทอท.มีหน้าที่เก็บค่าเช่าให้กรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์ขึ้นค่าเช่ามาตั้งแต่ปี55 จาก20 บาทต่อตารางเมตรขยับเป็น400บาทต่อตารางเมตร

โดยเป็นการปรับเพิ่มค่าเช่าหลังจากการบินไทยได้สร้างอาคารจากเดิมที่เป็นสนามหน้า หลังพ้น 30 ปีอาคารก็โอนเป็นของกรมธนารักษ์ การคิดค่าเช่าเพิ่มจึงการคิดจากการเช่าตึกไม่ใช่คิดในอัตรา 20 บาทต่อตรม.เหมือนยุคแรกๆตอนสร้างอาคารที่เป็นพื้นที่สนามหญ้า

แต่ที่ผ่านมาการบินไทยก็จ่ายในอัตรา 20 บาทต่อตารางเมตร ทอท.ก็ยังคงต้องทวงหนี้อยู่ต่อไป

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวเกี่ยวข้อง: