การประชุมเจ้าหนี้การบินไทย จะมีขึ้นอีกรอบ 19 พฤษภาคมนี้ เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากในการประชุมเมื่อ 12 พฤษภาคม เจ้าหนี้หุ้นกู้สหกรณ์กว่า 20 แห่ง มูลหนี้รวมกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 24.4% จากจำนวนหนี้ที่เข้าร่วมประชุม 1.32 แสนล้านบาท ลงมติขอเลื่อนการโหวตแผนออกไป
โดยให้เหตุผลว่า มีแผนขอแก้ไขถึง 15 ฉบับ ต้องใช้เวลาในการพิจารณาแผนแก้ไขดังกล่าว ซึ่งนอกจากต้องพิจารณาแผนฟื้นฟูของการบินไทย ซึ่งเป็นลูกหนี้เสนอขอแก้ไขแผนใหม่แล้ว ยังมีเจ้าหนี้อีก 14 รายยื่นเสนอแผนแก้ไขด้วยเช่นกัน ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สรุปแผนทั้ง 15 ฉบับที่มีการแก้ไขมานำเสนอ
เริ่มจาก “การบินไทย” ได้แก้ไขแผนฟื้นฟู หลังจากผู้ทำแผนได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายหลักและเจ้าหนี้ที่มีโอกาสให้การสนับสนุนทางการเงิน โดยเจ้าหนี้ต่างเห็นตรงกันว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้เชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู
รวมถึงใส่เม็ดเงินใหม่ได้คือ การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นๆไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้หลังจาก 60 วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผน การบินไทยจะปรับโครงสร้างทุน โดยลดทุนจดทะเบียนจาก 26,989.01 ล้านบาทเหลือ 21,827.72 ล้านบาท ด้วยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย 516.13 ล้านหุ้น จากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 218,277.19 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 19,644.95 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท รวมมูลค่า 196,449.47 ล้านบาท
โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้นให้เจ้าหนี้กระทรวงการคลังและหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้นและจัดสรรหุ้นไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้น ให้เจ้าหนี้สินเชื่อใหม่ภาคเอกชน (เจ้าหนี้สถาบันการเงิน)และหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
แนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อใหม่ทั้งหมด มาจาก 2 ส่วนคือ 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การคํ้าประกัน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐ หรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท
ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนจากเอกชนและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐหรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท
ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่จำนวน 5 คน เพื่อมาดูแลและติดตามการทำงานของผู้บริหารแผนฟื้นฟูด้วย
ทอท.ขอพรบ.ร่วมทุน
สำหรับข้อเสนอแก้ไขแผนของเจ้าหนี้อย่างบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ขอให้เพิ่มข้อความว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ขั้นตอนและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชน พ.ศ.2562 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งอัตราค่าบริการต้องเท่าเทียมกับสายการบินอื่นๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น ขอให้ทยอยชำระหนี้เงินต้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ 2
ขอลดทุนเหลือ1สตางค์
ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้อย่าง “ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้เสนอ 3 เรื่องหลักคือ 1.ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก 3 ปี ส่วนที่เดิมจะได้รับในปีสุดท้ายของหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน ขอให้มีการแปลงแปลงดอกเบี้ยเป็นทุน มูลค่าหุ้นละ 10 บาทและกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุนที่หุ้นละ 2.50 บาท 2.ขอให้ลดทุนจดทะเบียนเหลือหุ้นละ 1สตางค์หรือมีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 218,277,191.70 บาท และ 3. ขอให้มีการแยกหน่วยธุรกิจต่างๆของการบินไทยมาตั้งเป็นบริษัทย่อยตามความเหมาะสม
รวมถึงขอให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการพิจารณาและดำเนินการรวมธุรกิจ รวมถึงการควบรวมกิจการกับบริษัทย่อยอื่นๆรวมถึงบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด โดยพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มค่าความจำเป็น
ด้าน “ธนาคารออมสิน”ระบุว่า กรณีที่หนี้รายใดถึงกำหนดชำระตามแผน แต่คำขอรับชำระหนี้ ยังมีข้อโต้แย้งและยังไม่มีคำสั่งถึงที่สิ้นสุดให้ได้รับชำระหนี้ ให้ผู้บริหารแผนกันเงินสำรองไว้ตามจำนวนหนี้ตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลและให้ชำระเมื่อได้รับคำสั่งถึงที่สุด
“ธนาคารกรุงเทพ”เสนอแก้ไขรายชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูเป็นนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ กรรมการธนาคารกรุงเทพ และนายไกรสร บารมีอวยชัย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายธนาคารกรุงเทพ
“ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.”ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้เกี่ยวกับสัญญาคํ้าประกันหนี้ของลูกค้าและค่าเสียหายจากการที่ลูกหนี้ผิดสัญญาซื้อขายไมล์สะสม ได้ขอให้ผู้บริหารแผนเห็นว่ามูลหนี้ของเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ไมใช่หนี้เงินอันจะขอรับชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่เป็นหนี้กระทำการที่การบินไทยมีภาระให้ใช้ไมล์สะสมแลกสินค้าหรือบริการ
โดยผู้ถือไมล์สะสมยังสามารถใช้สิทธิแลกไมล์สะสมเพื่อแลกสินค้าหรือบริการได้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโปรแกรมรอยัลออร์คิดพลัส
ขณะที่กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิตขอให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นของหนี้ค่าภาษีอากร ดอกเบี้ย เบี้ยปรับเงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายต่างๆที่คงค้างชำระในปีแรกของการฟื้นฟูกิจการจนครบ 100% ของยอดหนี้ ขอให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในปีแรกนับแต่มีการผิดเงื่อนไขบัตรส่งเสริมการลงทุนหรือผิดสัญญาตามประกาศของกรมศุลกากรจนครบ100%
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวเกี่ยวข้อง: