วันนี้(15 มิ.ย.2564) เวลา 10.00 น.ศาลล้มละลาย มีกำหนดนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็นการชี้ชะตาว่าการบินไทยจะสามารถเดินหน้าดำเนินการกระบวนการฟื้นฟูต่อไปได้หรือไม่
หลังจากเมื่อวันที่28 พ.ค.ที่ผ่านมาศาลล้มละลายกลางได้นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการและศาลรับไว้ จำนวน 2 ฉบับ ศาลล้มละลายกลางเห็นสมควรให้งดสืบพยานและให้โอกาสผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนดและกำหนดนัดฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้หากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็จะมีผลทำให้การบินไทยสามารถดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไปได้ โดยการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการซึ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผน การจัดการกระแสเงินสดและทรัพย์สินของบริษัทบางส่วนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการ
อีกทั้งหากศาลฯมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจะมีผลให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟู ที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
การบินไทยได้กำหนดไว้ว่าการฟื้นฟูกิจการจะใช้เวลาดำเนินการแผนฟื้นฟูไม่เกิน 8 ปี ซึ่งหากดำเนินแผนเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การบินไทยกลับมามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ภายใน 3-5 ปี
สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการหลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ภายใน60วัน การบินไทยจะปรับโครงสร้างทุน โดยลดทุนจดทะเบียนจาก 26,989.01 ล้านบาทเหลือ 21,827.72 ล้านบาท ด้วยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย 516.13 ล้านหุ้น จากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 218,277.19 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 19,644.95 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท รวมมูลค่า 196,449.47 ล้านบาท
โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้นให้เจ้าหนี้กระทรวงการคลังและหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้นและจัดสรรหุ้นไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้น ให้เจ้าหนี้สินเชื่อใหม่ภาคเอกชน (เจ้าหนี้สถาบันการเงิน)และหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
รวมถึงแนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อใหม่ทั้งหมด มาจาก 2 ส่วนคือ 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การคํ้าประกัน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐ หรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท
ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนจากเอกชนและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐหรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท
อย่างไรก็ตามหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 จากนั้นการบินไทยจึงทำแผนฟื้นฟู และยื่นเสนอแผนฟื้นฟูต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 เจ้าหนี้โหวตผ่านแผนฟื้นฟูการบินไทยเมื่อวันที่ 19 พ.ค.64
หลังจากมีการล็อบบี้เจ้าหนี้รายใหญ่ ทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ จนโหวตผ่านแผนแก้ไขแผนฟื้นฟู3ฉบับ ได้แก่ แผนฟื้นฟูของการบินไทย,แผนฟื้นฟูของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย และแผนฟื้นฟูของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยเจ้าหนี้ยอมรับรวม 28 กลุ่มจาก 36 กลุ่ม จำนวนหนี้รวม 1.16 แสนล้านบาท คิดเป็น 91.56%
โดยแผนฟื้นฟูทั้ง 3 ฉบับมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันที่มีการหารือร่วมกันก่อนวันโหวตแผนฟื้นฟู และศาลฯได้นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูเมื่อ28พ.ค.ก็มีเจ้าหนี้รายย่อย 2 ราย รวมมูลหนี้ราว 3 ล้านบาท ได้แก่ 1. นางสาวจันทร์เพ็ญ บุญชวย เจ้าหนี้รายที่ 13041 เป็นเจ้าหนี้กลุ่ม 8 หรือเจ้าหนี้พนักงาน ซึ่งมีมูลหนี้อยู่ที่ 196,984.23บาท จากเจ้าหนี้กลุ่มนี้ที่มีทั้งหมดรวม 499 ราย รวมมูลหนี้อยู่ที่ 227 ล้านบาท
โดยเจ้าหนี้พนักงานรายนี้ ยื่นคัดค้านแผนในส่วนของผู้บริหารแผน 2 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เนื่องจากสงสัยเกี่ยวกับการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการตั้งสายการบินไทยสมายล์ ในช่วงที่นายปิยสวัสดิ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
รวมถึงคัดค้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้ทำแผนฟื้นฟูและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ในประเด็นที่มองว่าไม่มีอำนาจในการเลิกจ้างพนักงานการบินไทย 508 คน และในขณะที่ผู้คัดค้านอยู่ระหว่างยื่นข้อเรียกร้องให้คงสภาพการจ้างพนักงานทุกคนต่อสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย
2.บริษัท เบย์คอมพิวติ้ง จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 10320 เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่10 หรือเจ้าหนี้การค้า มีมูลหนี้อยู่ที่2,880,485.80 บาท ได้ยื่นคัดค้านแผน เนื่องจากแผนไม่ได้ระบุวิธีการชำระหนี้ของบริษัทไว้ ซึ่งเป็นมูลหนี้สัญญาเช่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทำให้บริษัทมองว่าได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเป็นธรรม
ข่าวเกี่ยวข้อง: