โอมานประตูบานใหม่ของธุรกิจไทยในตะวันออกกลาง

07 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน เกิดความไม่แน่นอน โดยในช่วง 4-5 ปีก่อนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เกิดการผลิตน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดโลกจำนวนมาก ส่งผลให้ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตกลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เศรษฐกิจของประเทศพึ่งพาการส่งออกน้ำมันและเริ่มได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจซึ่งหนึ่งในประเทศเหล่านั้นคือ โอมาน

โอมานเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทรัพยากรรธรรมชาติภายในประเทศจำนวนมากทั้ง น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สินค้าส่งออกหลักจึงเป็นน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ แต่ด้วยภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทางรัฐบาลโอมานจึงเริ่มมีนโยบายเศรษฐกิจด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าจะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม สินค้าที่โอมานสนับสนุนมากขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและประมง โดยเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อใช้โอมานเป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง (Gulf Cooperation Council:GCC) อิหร่าน และภูมิภาคแอฟริกา

ข้อมูลสถิติจากกรมส่งเสริมการลงทุนและการตลาดด้านประมงของโอมานเปิดเผยว่า ในช่วงปี 2555-2559 โอมานสนับสนุนภาคการประมงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างมาก ส่งให้ผลผลิตทางการประมงในทะเลโอมานเพิ่มขึ้นถึง 11.5% โดยปริมาณการส่งออกปลาเพิ่มขึ้นจาก 94,000 ตัน ในปี 2555 เป็น 157,000 ตันในปี 2559 จนในปัจจุบันโอมานสามารถส่งออกผลผลิตทางการประมงไปมากกว่า 40 ประเทศ โดยในปี 2559 สามารถสร้างรายได้จากภาคการเกษตรและประมงรวมกว่า 327 ล้านริยาลโอมาน หรือประมาณ 843.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 29,000 ล้านบาท) โอมานกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตทางการประมงรายใหญ่ในภูมิภาค โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลผลิตทางการประมงเป็น 480,000 ตันต่อปี ภายในปี 2563 รวมถึงออกนโยบายทำฟาร์มปลาแบบ open ocean farming ในทะเลโอมานซึ่งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ช่วยเพิ่มผลผลิตทางประมงได้ราว 8,000 ตันต่อปี นอกจากนี้รัฐบาลโอมานยังเน้นเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกิจประมงทั้ง ท่าเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกบนชายฝั่งต่างๆ ด้วย

รัฐบาลโอมานไม่เพียงแค่พัฒนาเศรษฐกิจจากกลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเดินทางมาเยือนกลุ่มประเทศอาเซียน เชิญชวนนักลงทุนเข้าไปลงทุนในโอมานเช่นกัน โดยเมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคม 2560 ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอมาน ได้เดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เชิญชวนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในโอมาน เนื่องจากมองเห็นว่ารูปแบบการประกอบวิสาหกิจของไทยมีขนาดไม่ใหญ่มากนักเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของโอมานที่รัฐบาลให้การส่งเสริม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมภาคบริการและการต้อนรับ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญและสามารถใช้โอมานเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาได้

[caption id="attachment_146643" align="aligncenter" width="503"] โอมานประตูบานใหม่ของธุรกิจไทยในตะวันออกกลาง โอมานประตูบานใหม่ของธุรกิจไทยในตะวันออกกลาง[/caption]

จุดเด่นทางเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งของโอมานคือ การมีความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Area) กับสหรัฐอเมริกา การที่โอมานตัดสินใจจัดทำนั้นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ สามารถใช้โอมานเป็นตัวเชื่อม (springboard) ด้านการดำเนินธุรกิจไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนหรือผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการธุรกิจโอมานเพื่อผลิตสินค้าหรือแปรรูปสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาต่อไปได้

นอกจากนี้ โอมานกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ และสนามบินแห่งใหม่ เมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์จะผลักดันให้โอมานกลายเป็นประตูการค้าที่ยอดเยี่ยมให้ธุรกิจไทยใช้เพื่อเข้าสู่ตลาดประเทศอื่นในกลุ่มความร่วมมืออ่าวอาหรับหรือ GCC และประเทศใกล้เคียง

ปัจจุบันมูลค่าทางการค้าระหว่างไทยและโอมานในปี 2559 มีมูลค่ากว่า 671.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 23,000 ล้านบาท) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้แช่แข็ง เป็นต้น โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญจากโอมานได้แก่ สินแร่โลหะ น้ำมันดิบ สัตว์น้ำสดแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูปเป็นต้น

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560