Tesla ช่วยให้จีนครองโลกยานยนต์ไฟฟ้า  (จบ)

22 ก.พ. 2563 | 04:50 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2563 | 11:56 น.

 

คอลัมน์ มังกรกระพือปีก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563

 

อนาคตของTeslaในจีน...ผู้นำตลาดอยู่แค่เอื้อม 

ผู้เชี่ยวชาญในวงการยานยนต์ไฟฟ้าประเมินว่า ยอดขาย Model 3 ในตลาดจีนจะอยู่ระหว่าง 100,000-150,000 คันในปี 2020 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์ของ Tesla ในตลาดโลกในปี 2019 ที่ประมาณ 367,000 คัน ก็สะท้อนว่าตลาดจีนกำลังจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของ Tesla ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

บริษัทยังประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนในโครงการอย่างต่อเนื่องตามคำมั่นที่ได้ให้ไว้กับรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ โดยจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตให้สามารถใช้โรงงานที่เซี่ยงไฮ้แห่งนี้คลอดรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 500,000 คันต่อปีในอนาคตอันใกล้

ขณะที่รถยนต์รุ่นถัดไปที่จะเปิดสายการผลิตในโรงงานดังกล่าวในช่วงต้นปี 2021 ก็ได้แก่ Model Y รถเอสยูวี (SUV) สุดโฉบเฉี่ยว ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็หมายความว่า Tesla จะผลิตรถยนต์ Model Y ช้ากว่าการผลิตเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ เพียง 1 ปีเท่านั้น ด้วยศักยภาพด้านการผลิตและตลาดของจีนดังกล่าว การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ของบริษัทอาจเกิดขึ้นในเวลาที่พร้อมกันใน 2 ประเทศได้ในอนาคตอันใกล้

 

Tesla ช่วยให้จีนครองโลกยานยนต์ไฟฟ้า  (จบ)

 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โลกยังให้ความเห็นว่า การตัดสินใจเลือกผลิตรถ SUV ซึ่งเป็นที่คลั่งไคล้ของชาวจีนดังกล่าว จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ Tesla สามารถแย่งชิงสัดส่วนทางการตลาดและก้าวขึ้นเป็นผู้นำแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนและของโลกได้อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน เพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนที่คาดว่าจะขยายตัวราว 6-7 เท่าตัวในช่วง 5 ปีข้างหน้า Tesla ก็เตรียมแผนจะสร้างสีสันครั้งใหญ่ด้วยการนำเอา Model S Sedan และ Model X SUV ที่หรูหรามากกว่าเข้าสู่ตลาดจีน รวมทั้งรถบรรทุกไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในจีนในลำดับถัดไป

ประการสำคัญ Tesla ยังก้าวไปอีกระดับด้วยการวางแผนจะลงทุนก่อสร้างศูนย์ออกแบบและวิศวกรรม ศาสตร์ (Design and Engineering Center) ในเซี่ยงไฮ้เพื่อออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบก่อนผลิตเพื่อป้อนตลาดโลกอีกด้วยในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตกลงกับรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ว่าจะจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ปีละ 2,230 ล้านหยวนนับแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลของหลายมณฑล/มหานครในจีนต่างก็จับตามองแผนการขยายการลงทุนในโรงงานผลิตของ Tesla สู่แห่งที่ 2 ในจีนอย่างใจจดใจจ่อ และต้องการเชื้อเชิญให้บริษัทเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแห่งใหม่ด้วยเงื่อนไขด้านภาษีและมาตรการอุดหนุนที่ดีเช่นกัน ซึ่งนั่นหมายความว่า หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ บริษัทก็อาจสยายปีกกว้างขึ้นในเมืองอื่นของจีนในอนาคตอันใกล้


 

 

รัฐบาลจีน-Tesla ... พันธมิตรคู่ใหม่ของโลกยานยนต์ไฟฟ้า

ในขณะที่จีนกำลังเดินหน้าพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่สุดของโลก เพื่อช่วยตอบโจทย์นโยบายสีเขียว การประหยัดพลังงาน และเตรียมตัวต่อ ยอดสู่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งโลกอนาคต บนพื้นฐานของการแข่งขันเสรีและผ่านมาตรการหลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏในประเทศอื่น

ระดับการแข่งขันที่สูงขึ้นนี้เองก็ทำให้ผู้ผลิตรถไฟฟ้าในจีนต่างให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และนำเอานวัตกรรมเข้ามาปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในจีนทั้งในเชิงราคาและคุณภาพ

ขณะเดียวกัน Tesla เองก็ประสบความสำเร็จในการประทับรอยเท้าและสร้างแบรนด์อย่างแข็งแกร่งในตลาดจีน การขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตในจีนที่ปกติใช้เวลา 2-3 ปีลดลงเหลือเพียง 2-3 เดือน นับว่ารวดเร็วเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้ Tesla สามารถเปลี่ยนความเสียเปรียบไปสู่ความได้เปรียบด้านราคาในระยะเวลาอันสั้น

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากรัฐบาลจีน และยังเป็นการตอกยํ้าในเชิงภาพลักษณ์อันดีในเวทีการลงทุนระหว่างประเทศว่า จีนเปิดตลาดแก่กิจการต่างชาติตามนโยบายใหญ่ที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้

ในทางกลับกัน บริษัทก็สร้างประโยชน์ตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจมากมายเช่นกัน นอกเหนือจากการจ้างงานคุณภาพแล้ว Tesla ยังเดินหน้าพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่สู่แดนมังกรอย่างจริงจัง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเดียวกันก็กำลังก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดจีนอย่างแท้จริง จนกลายเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีน

 

 

ศักยภาพด้านการผลิตและตลาดภายในประเทศดังกล่าวยังช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่งนั่นเท่ากับว่ารัฐบาลจีนกำลังพยายามเปลี่ยนสถานะของการนำเข้า Tesla และการบ่มเพาะสตาร์ตอัพไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าที่พร้อมสรรพ และจะนำไปสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกและผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าของโลกในอนาคต

เพียงไม่ถึง 10 ปี รัฐบาลจีนและ Tesla กำลังพัฒนาความร่วมมือสู่การเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คู่ใหม่ที่เอื้อประโยชน์ระหว่างกันในระยะยาว ในด้านหนึ่ง ตลาดจีนกำลังกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่สุดของบริษัท ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง Tesla ก็ช่วยขับเคลื่อนให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโลก

ความเชื่อมโยงระหว่าง Tesla และมัสก์กำลังขยายวงไปสู่จีนในอนาคตอันใกล้ คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ไทยเราจะเรียนรู้และเกาะเกี่ยวไปกับการเติบโตนี้ได้บ้างหรือไม่ อย่างไร เผื่อว่าความฝันที่ผมอยากเห็นความเชื่อมโยงของแบรนด์ที่แข็งแกร่งอย่าง Tesla-มัสก์-จีน-ไทย จะเกิดเป็นจริงบ้างในอนาคต

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่นๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวนรถไฟความเร็วสูงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน