เมียนมาเตรียมออกกฎหมายการลงทุนใหม่

29 มิ.ย. 2563 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2563 | 10:45 น.

คอลัมน์ เมียงมองเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

แม้นว่าประเทศเมียนมาจะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศ เข้าไปลงทุนทางตรงในประเทศเมียนมาอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเจอปัญหาเจ้าวายร้าย COVID 19 เข้ามาอาละวาด โดยในปีค.ศ.2019 มีเม็ดเงินจาก Foreign Direct Investment (FDI) มีมากถึง 4.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ เอาแค่ 8 เดือนเริ่มจากพฤศจิกายนปี 2019-เดือนเมษายน ปี 2020 ก็ปาเข้าไปมากถึง 4.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป้าหมายเขาตั้งไว้เพียง 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แน่นอนผมเคยเล่าไปแล้วว่า ผมเชื่อว่าเขาทำได้เข้าเป้าแน่นอน ต้องบอกว่าสำหรับประเทศเล็กๆนั้น มันเป็นตัวเลขมหาศาลจริงๆ เราอย่าไปเอามาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานเศรษฐกิจที่ผิดกันนะครับ ต้องมองไปเปรียบเทียบกับประเทศที่ด้อยกว่าหรือเท่ากัน และเมื่อเรามองว่าเขาเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน เพิ่งจะประมาณไม่ถึงสิบปี เราก็จะเห็นว่าน่าชื่นใจสำหรับเขาจริงๆนะครับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการโรคระบาดไปทั่วโลก เขาเองก็ต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ  เพื่อจะได้ไม่หยุดนิ่ง เพราะการหยุดนิ่งนั่นหมายถึงการถอยหลังนั่นเอง ทางประเทศเมียนมา โดยท่านรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ท่าน U Aung Naing Oo ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ประเทศเมียนมายังต้องการการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศอีกมาก

ดังนั้นประเทศเมียนมากำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิรูปกฏหมายการลงทุนครั้งใหญ่ เป็นครั้งที่ 3 เพื่อลองรับกระแสการลงทุนทางตรงอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าหลัง COVID 19 ผ่านพ้นไป จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมการไว้เพื่อรองรับให้ดี

ทั้งนี้ประเทศเมียนมาได้รับความช่วยเหลือขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส หรือ France-based Organization for Economic Cooperation and Development (FOECD) เพื่อกำหนดนโยบายการปฏิรูปที่จำเป็น เพื่อให้ประเทศเมียนมาเป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นที่น่าดึงดูดใจนักลงทุนระหว่างประเทศและนักลงทุนทั้งในประเทศด้วย น่าสนใจมากครับสำหรับมุมมองของฯพณฯท่านรัฐมนตรีท่านนี้ ซึ่งท่านคาดว่ากฎหมายฉบับนี้ จะสามารถคลอดได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทันเวลาของสมัยรัฐบาลชุดนี้ หรือก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้นั่นเอง 

ประเทศเมียนมาได้แก้ไขกฎหมายการลงทุนครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือช่วงรัฐบาล USDP หรือรัฐบาลทหารเก่า ที่นำโดยประธานาธิบดีเต็ง เซ่ง ในปีค.ศ. 2012 ในยุคนั้นได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างมีเงื่อนไข แต่ก็ถือว่าเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง จากเดิมที่มีข้อจำกัดอย่างมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว ซึ่งก็เพื่อทะลายกำแพงการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ เพราะถ้าหากใช้อัตราแลกเปลี่ยนสองอัตรา จะทำให้ไม่สามารถมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้เลย

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆคือ อัตราที่รัฐบาลกำหนดในอดีตคือ 1 US$ = 6.5จ๊าด ในขณะที่ตลาดมืดใต้ดิน อยู่ที่ประมาณ 800 จ๊าด นักลงทุนที่นำเงินเข้าไปลงทุนที่ประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการ 1 ล้านเหรียญ ได้เงินเพียง 6.5 ล้านจ๊าด แต่ถ้าเอาเข้าไปแบบไม่เป็นทางการ หรือแบบใต้ดิน จะได้เงินมากถึง 800 ล้านจ๊าด แล้วจะมีใครเข้าไปละครับ แค่เริ่มดำเนินการก่อตั้งบริษัทยังไม่เสร็จ ก็เริ่มขาดทุนไปก่อน 793.5 ล้านจ๊าดแล้ว นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ฯพณฯท่านเต็ง เซ่ง ที่มอบให้แก่แผ่นดินเมียนมาละครับ 

ครั้งต่อมาเมื่อพรรค NLD ขึ้นมาบริหารราชการแผ่นดิน ได้สานต่อระบบการค้า-การลงทุนใหม่อีกครั้ง ในปีค.ศ 2018 รัฐบาลได้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิรูปกฏหมายการลงทุนใหม่อีกครั้ง คราวนี้ได้ปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น และมีการปลดปล่อยข้อกำหนดหลากหลายประการ ผมคงไม่ต้องนำมาอธิบายอีกนะครับ เพราะเล่าไปหลายครั้งแล้ว เอาเป็นว่าครั้งนั้น ทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าประเทศเมียนมาอย่างมากมาย รวมทั้งปลายปี ค.ศ.2019 น่าเสียดายที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เจ้าวายร้าย COVID 19 ก็เข้ามาเสียก่อน ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไปหมด การออกกฎหมายใหม่ของประเทศเมียนมาครั้งนี้ จึงเป็นการที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 

โดยวัตถุประสงค์หลักของกฏหมายใหม่นี้ ก็เพื่อดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เชื่อว่าจะมีหลายธุรกิจที่สนใจเข้ามาลงทุนในเมียนมา น่าจะมีมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยทางกระทรวงการลงทุนคาดว่าในปีงบประมาณ 2021-22 จะมีมูลค่าการลงทุน 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปีค.ศ. 2025-26 จะมีมูลค่า 12.3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และในปีค.ศ.2026 ถึงปีค.ศ. 2031 จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเมื่อครบ 20 ปีข้างหน้า เป้าหมายที่ตั้งไว้ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐจึงมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวครับ

เราคงต้องจับตาดูประเทศที่เปิดใหม่อย่างเมียนมาให้ดี ถ้าใครพลาดโอกาสนี้ไป คงต้องรอไปบุกเบิกใหม่ที่ประเทศแถบแอฟริกาแล้วละครับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข้อควรระวังทางด้านกฎหมายของผู้ประกอบการที่ลงทุนในเมียนมา

ประเมินประเทศเมียนมาใหม่

โอกาสธุรกิจโลจิสติกส์ในเมียนมา

โอกาสทองของธุรกิจออนไลน์ในเมียนมา