ผ่านฉลุยแก้รธน. เหนือสืบทอดอำนาจคือ “รัสเซียเฟิร์ส”

05 ก.ค. 2563 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2564 | 06:29 น.

คอลัมน์หลังกล้องไซบีเรีย : เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์, ภาพ: Mos.ru / Maksim Denicov, Evgeny Samarin

ไม่ผิดไปจากที่คาดเท่าไหร่นัก เมื่อผลการลงประชามติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัสเซียที่ดำเนินต่อเนื่องยาว 1 สัปดาห์จบลงที่เสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น

ถึงแม้ว่าแดนหมีขาวยังอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่าตั้งแต่เปิดหีบลงคะแนนเสียงล่วงหน้าในวันที่ 25 มิถุนายนจนถึงวินาทีปิดหีบ มีชาวรัสเซียราว 2 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์ลงเสียงออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง ร่วมลงประชามติในครั้งนี้ทั้งที่หน่วยเลือกตั้งและทางออนไลน์ในเมืองที่ยังมีการแพร่ระบาดหนักของไวรัสเช่นในกรุงมอสโก จบลงด้วยเสียงสนับสนุนราว 78% และเสียงค้าน 21%

ตัวเลขสัดส่วนนี้ดูไม่น่าแปลกใจมากนัก เมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2561 นายวลาดิมีร์ ปูตินก็ชนะการเลือกตั้งไปด้วยเปอร์เซ็นต์เสียงสนับสนุนที่ใกล้เคียงกันที่ 76% ตอกย้ำฐานเสียงความเชื่อมั่นในนโยบายของผู้นำประเทศวัย 67 ปี

หลังจากการประกาศผลอย่างเป็นทางการ มีเสียงทักท้วงจากฝ่ายค้านออกมาบ้าง เช่นการกล่าวหาเรื่องการโกงผลคะแนนไม่ต่างกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่แล้ว ดูเหมือนว่ากลุ่มที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาว ยิ่งสะท้อนว่าฐานเสียงของนายปูตินคือกลุ่มผู้มีอายุที่ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับตัวเขา

การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัสเซียครั้งนี้ สื่อนอกประเทศมักพาดหัวชี้ประเด็นไปเพียงแต่เรื่องข้อกฎหมายที่ “รีเซ็ท” วาระการเป็นประธานาธิบดีของนายปูติน ทำให้เขามีโอกาสนั่งอยู่ในเก้าอี้ประธานาธิบดีได้นานถึงปี 2579 แต่สำหรับคนรัสเซียแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความสำคัญไปมากกว่านั้น เพราะเป็นการปรับโฉมหน้ากฎหมายรัสเซียใหม่ เสนอปรับแก้หลายร้อยมาตรา เพื่อให้เข้ากับรัสเซียยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาของชาวรัสเซียมักถูกร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของต่างชาติ เช่นรัฐธรรมนูญสมัยจักรวรรดิรัสเซียปี 2449 ที่ยกมาจากข้อกฎหมายของฝรั่งเศส และในฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2536 ถูกเขียนขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและการเมืองหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินและพรรคพวกของเขาที่ต้องการผลักดันประเทศไปในทางของเสรีนิยมจึง เลือกนำแนวคิดแบบอเมริกาเข้ามาปรับใช้กับรัฐธรรมนูญของประเทศ ทว่าจากช่วงเวลาที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดจนถึงปัจจุบัน สภาพความเป็นไปของรัสเซียเปลี่ยนไปอย่างมาก จากประเทศที่ต้องเริ่มต้นใหม่หลังการล่มสลายของโซเวียต ตอนนี้กลับกลายมาเป็นประเทศแถวหน้า มีอำนาจในเวทีการเมืองโลกที่ไม่ว่าประเทศไหนต่างต้องจับตามอง ทั้งสนามการเมืองในประเทศยังค่อนข้างเสถียรภาพ ไม่ขึ้นกับประเทศใด จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นสากล  สิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ คือการยึดรัสเซียเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ออกแบบมารองรับการสนับสนุนนโยบายในประเทศมากกว่ารับแรงอิทธิพลจากต่างชาติ ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักเหนือสนธิสัญญาสากล เรียกว่าเป็นแนวคิดแบบ “รัสเซียเฟิร์ส” ก็ว่าได้

ตัวอย่างข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายที่สะท้อนแนวคิดที่ยึดความเป็นรัสเซียในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เช่นการห้ามไม่ให้คนที่ถือสัญชาติประเทศอื่น หรือมีใบอนุญาตให้พำนักในต่างประเทศทำงานในตำแหน่งสูงๆ  หรือเพิ่มข้อจำกัดสำหรับคนที่จะสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ห้ามมีประวัติการถือสัญชาติอื่นมาก่อน และต้องอาศัยอยู่ในรัสเซียมาไม่น้อยกว่า 25 ปี เป็นต้น ขณะเดียวกัน สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือการเทอำนาจไปอยู่ในมือประธานาธิบดีมากกว่าที่เป็นจากเดิมที่รัสเซียใช้ระบบการปกครองที่ให้อำนาจไปอยู่ที่การบริหารของประธานาธิบดีอยู่ก่อนแล้ว การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะว่าไปแล้ว ดูคล้ายกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยเมื่อปี 2559 ที่มีตัวเลือกให้ผู้ใช้สิทธิ์ตอบเพียง “เห็นด้วย” กับ “ไม่เห็นด้วย” ถึงแม้ว่าจะมีข้อแก้ไขบางอย่างที่ไม่เห็นด้วยสอดแทรกมาบ้าง ผู้ใช้สิทธิ์มีทางเลือกเพียงยอมรับแบบเหมาเข่ง หรือคว่ำทิ้งทั้งหมดเท่านั้น ข้อกฎหมายที่เปิดทางให้นายปูตินอยู่ต่อในอำนาจก็คงไม่ต่างกัน แม้ตัวของนายปูตินเองอาจตัดสินใจไม่ลงชิงเก้าอี้ต่อในปี 2567 วางมือ หรือย้ายไปนั่งคุมการเมืองอยู่เบื้องหลัง ประเด็นนี้จะกลายมาเป็นชนวนที่จุดกระแสความไม่พอใจให้กับฝ่ายค้านต่อไปอีกในอนาตจอย่างแน่นอน ** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" ** Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย