พายุซัดส่งออกน้ำตาล “เวียดนาม” แผลงฤทธิ์จ่อฟ้องไทย

10 ต.ค. 2563 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2563 | 12:57 น.

อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยยังเผชิญวิบากกรรมไม่หยุด หลังโควิด-19 ส่งผลทำส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด แต่อีกด้านหนึ่งเวียดนามหนึ่งตลาดสำคัญเตรียมเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดจากไทย

 

ต่อเนื่องมายังวิบากกรรมโควิด-19 ที่เป็นตัวการใหญ่ทำให้การส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศคู่ค้าน้ำตาลรายสำคัญของไทยสะดุดลง ทันทีที่มีการปิดด่านการค้าเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเห็นได้ชัดเจนว่าสถิติการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2563 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ร่วงกราวรูดเกือบทุกตลาด ประเทศคู่ค้าน้ำตาลหลักมีตัวเลขการส่งออกติดลบ  โดยเฉพาะการส่งออกไปยังเกาหลี จีน มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว วิกฤติโควิด-19 นอกจากเป็นต้นเหตุที่ทำให้เส้นทางการส่งออกน้ำตาลสะดุดลงแล้ว  การบริโภคน้ำตาลภายในของแต่ละประเทศทั่วโลกก็ลดลงด้วยในขณะนี้ 

 

แต่ปัญหาไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ล่าสุดเวียดนามพลิกสถานะจากคู่ค้าน้ำตาลรายสำคัญของไทยกลายมาเป็นคู่ค้าที่จ้องจะฟ้องไทย โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เผยว่า เวียดนามจะเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและอุดหนุนสำหรับน้ำตาลที่นำเข้าจากไทยเป็นครั้งแรก โดยได้ออก Decision No. 2466/QD-BCT ลงวันที่ 21 กันยายน 2563 เปิดการไต่สวนฯ เพื่อพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และการอุดหนุน (ซีวีดี) กับสินค้าน้ำตาลนำเข้าจากไทย สำหรับช่วงระหว่างวันที่  1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อัตราอากรที่จะเรียกเก็บสูงสุดอยู่ที่ 37.90% ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องจากสมาคมน้ำตาลและอ้อยเวียดนาม (VSSA) และผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศเวียดนาม

 

พายุซัดส่งออกน้ำตาล  “เวียดนาม” แผลงฤทธิ์จ่อฟ้องไทย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เวียดนามได้ยกเลิกโควตาภาษีนำเข้าน้ำตาลสำหรับประเทศในอาเซียน ตามข้อผูกพันในการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา โดยเวียดนามยกเลิกการจำกัดปริมาณการนำเข้าน้ำตาลทรายจากประเทศสมาชิกอาเซียนตามความตกลง ATIGA  ทำให้น้ำตาลทรายที่นำเข้าจากไทยได้รับการลดหย่อนอากรนำเข้าเหลือเพียง 5 % จากเดิม 30-40%

 

สอดคล้องกับสถิติตัวเลขการส่งออก 8 เดือนแรก ปี 2563 (ม.ค.-ส.ค. 2563) ปริมาณการนำเข้าน้ำตาลของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมากเกือบ 950,000 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเวียดนามนำเข้าน้ำตาลจากไทยสูงมาก

 

ขณะที่ข้อมูลการส่งออกน้ำตาลของไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม 2563 พบว่าไทยส่งออกน้ำตาลไปเวียดนามมากกว่า 880,982 ตันเทียบกับปี 2562 ช่วงเดียวกันทีเพียง 152,576 ตัน  หรือเพิ่มขึ้น 477.41% (ดูตาราง)

 

พายุซัดส่งออกน้ำตาล  “เวียดนาม” แผลงฤทธิ์จ่อฟ้องไทย

 

หากมองในแง่องค์การการค้าโลก (WTO) เวียดนามสามารถฟ้องไทยได้ โดยอ้างว่าไทยส่งออกน้ำตาลไปตีตลาดจึงเกิดการไต่สวน โดยเวียดนามจะดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดี ล่าสุดเวียดนามส่งเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ของไทย เพื่อยื่นขอไต่สวนไทยแล้ว ส่วนการส่งออกของไทยปัจจุบันมีผู้ส่งออก 8 รายประกอบด้วย บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด (บจก.), บจก.ส่งออกน้ำตาลสยาม, บจก.แปซิฟิคชูการ์ คอร์ปอเรชั่น, บจก. เค เอส แอล เอ็กซ์ปอร์ท เทรดดิ้ง, บจก.การค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล, บจก.ที.ไอ.เอส.เอส., บจก.เวิลด์ ชูการ์ เอ็กซ์ปอร์ต และบจก.ร่วมกำลาภเอ็กซ์พอร์ต 

เรื่องนี้หากพิจารณาตามเหตุผลก็ต้องมองให้รอบด้าน เมื่อประเทศในอาเซียนมีการลดภาษีน้ำตาลลงตามกรอบ FTA อาเซียน (อาฟต้า) หากนำเข้าน้ำตาลจากอาเซียนด้วยกันจะมีอัตราภาษีอากรนำเข้าเหลือเพียง 5% และไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เพียงรายเดียวที่อยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งใกล้เวียดนามมาก จะช่วยให้ผู้นำเข้าอย่างเวียดนามประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศอื่น ขณะที่ทุกประเทศที่ส่งออกน้ำตาลไปยังเวียดนามก็ขายตามราคาตลาดโลกเช่นเดียวกับไทย  ดังนั้นเวียดนามก็ควรจะไต่สวนไปยังประเทศอื่นด้วยหรือไม่

 

  พายุซัดส่งออกน้ำตาล  “เวียดนาม” แผลงฤทธิ์จ่อฟ้องไทย

 

สุดท้ายแล้วผลการไต่สวนจะออกมาหัวหรือก้อย และเวียด นามจ้องปฏิบัติต่อไทยประเทศเดียวในฐานะคู่แข่งรายสำคัญ หรือจะดำเนินการไต่สวนกับทุกประเทศที่ส่งน้ำตาลเข้าเวียดนาม

 

เรียกว่าการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาเหมือนถูกพายุซัดมาเป็นระลอก อุตสาหกรรมน้ำตาลที่ไทยมีชื่อเสียงในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่เบอร์ 2 ของโลกรองจากบราซิลจะเป็นอย่างไรต่อไป  ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีทั้งคู่แข่งและปัจจัยลบรอบด้านยังต้องเฝ้าติดตามต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โรงงานน้ำตาล” วางกรอบจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดคุณภาพปีการผลิต 63/64

น้ำตาลไทย “สาหัส” 3 ปัจจัยฉุด ใช้กำลังผลิตแค่ 34%

"โควิด" ฉุดยอดบริโภคน้ำตาลในประเทศลด 10%