เติมเงิน“ธุรกิจท่องเที่ยว” แก้แล้วแก้อีก รอเศรษฐกิจฟื้น

08 พ.ย. 2563 | 00:30 น.

เติมเงิน“ธุรกิจท่องเที่ยว” แก้แล้วแก้อีก รอเศรษฐกิจฟื้น : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3625 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ย.2563

ข้อเสนอเร่งด่วนของธุรกิจท่องเที่ยวเสนอนายกฯ ในการมาประชุมครม.สัญจร วันที่ 2-3 พ.ย.2563 ที่ภูเก็ต คือ ขอให้ช่วยเหลือทางการเงินเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้สถานประกอบการในพื้นที่ จากภาวะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมาเพียงพอจะมีรายได้หล่อเลี้ยงกิจการ ประกอบด้วย

           

1. พักชำระเงินต้น 3 ปี และคิดดอกเบี้ยต่ำ 2%  2.จัดหาและลดเกณฑ์ให้สามารถเข้าถึงซอฟท์โลนภาครัฐได้จริง และ 3.ตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาท เพื่อเข้าร่วมลงทุนให้มีเม็ดเงินหล่อเลี้ยงกิจการ เมื่อฟื้นตัวได้แล้วจึงขายหุ้นคืนเจ้าของเดิม โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1%

ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือมาตรการทางการเงินดังกล่าว รวมถึงแผนการลงทุนหรือโครงการเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันทั้ง 6 ด้าน โดยนายกฯมอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบ รับไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญเพื่อเสนอศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ(ศบศ.)พิจารณาต่อไป

           

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมครม.สัญจรภูเก็ตวันดังกล่าว ได้มีมติอนุมัติทบทวนมติครม. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ใน 4 โครงการ ประกอบด้วย

           

1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 80,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน ที่กัน 10,000 ล้านบาท ให้ปล่อยกู้สำหรับ SMEs ท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เพิ่งอนุมัติสินเชื่อไปได้เพียง 201 ล้านบาท มติล่าสุดให้ขยายคุณสมบัติผู้กู้ ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการทั่วไปในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เพิ่มวงเงินจากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 100 ล้านต่อราย และขยายเวลายื่นรับสินเชื่อจากสิ้นสุดปลายปีนี้ เป็น 30 มิ.ย.2564

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อ วงเงินรวม 57,000 ล้านบาท ก็เพิ่งอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อไปได้ 32 ล้านบาท  ขยายคุณสมบัติครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมในมาตรการข้อ 1. แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อ ให้บสย.เข้าค้ำประกันเพิ่มโอกาสการได้สินเชื่อ 

           

ส่วนมาตรการข้อ 3.โครงการสินเชื่อดอกเบี้่ยต่ำออมสินช่วย SMEs ภาคท่องเที่ยว วงเงิน 5,000 ล้านบาท และข้อ 4.โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด-19 ระบาด วงเงิน 10,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารพัฒนาเอสเอ็มอี. (ธพว.) ปล่อยกู้ธุรกิจรายย่อย  ทั้ง 2 โครงการจะสิ้นสุดการรับคำขอสินเชื่อภายใน 30 ธ.ค. 2563 ให้ขยายไปถึง 30 มิ.ย. 2564 เช่นกัน

           

ภาคท่องเที่ยวร้องขอความช่วยเหลือทางการเงินที่เข้าถึงได้จริงมานาน มติครม.สัญจรภูเก็ตข้างต้น ซึ่งเป็นการทบทวนมติเดิม เพื่อปรับปรุงแนวทางและขยายเวลาอีกครั้ง เป็นการซื้อเวลาประคองกิจการรอเศรษฐกิจฟื้นตัว และสอดคล้องกับจังหวะการ “ปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายกรณี” ระหว่างลูกหนี้-เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ตามสูตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอ ที่จะต้องเริ่มเดินหน้าจริงจังจากนี้