ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด (26ม.ค.2564) อนุมัติมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย จากผลกระทบการระบาดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่เพิ่มเติม โดยแพ็กเกจด้านภาษี-ค่าธรรมเนียมมี 3 มาตรการ ประกอบด้วย
1.ขยายเวลาการยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563 ออกไป 3 เดือน ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2564
2.ลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบปี 2564 ลง 90% เหลือ 10%
และ 3.ขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนจำนองจาก 1% เหลือรายการละ 0.01% โดยการซื้อขายบ้านราคา 3 ล้านบาท เดิมต้องจ่ายค่าโอนและจดจำนอง 60,000 บาท เหลือเพียง 300 บาท
พร้อมทั้งลดภาระพนักงานลูกจ้าง โดยให้ลดการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ม.33 จากเดิมสมทบ 5% สูงสุด 750 บาท เหลือ 0.5% หรือ 75 บาท เป็นเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) โดยนายจ้างยังต้องส่งสมทบในอัตรา 3% หรือสูงสุด 450 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.2564)
การลดภาระประชาชนครั้งนี้เป็นมาตรการต่อเนื่องจากโครงการ “เราชนะ” ที่รัฐบาลอนุมัติในการประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยจะจ่ายเงินเยียวยาประชาชน 31.1 ล้านคน เดือนละ 3,500 บาท 2 เดือน รวมเป็น 7,000 บาท วงเงินประมาณ 210,179.2 ล้านบาท โดยพุ่งเป้ากลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้มีรายได้น้อย โดยผู้ไม่มีข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของรัฐต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในวันที่ 29 ม.ค.2564 นี้
โครงการ “เราชนะ” วางหลักเกณฑ์ตัดผู้ไม่มีสิทธิเข้าร่วม ประกอบด้วย
1. ผู้ประกันตนตามม. 33 กฎหมายประกันสังคม
2.ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ได้รับผลตอบแทนจากหน่วยงานรัฐ
3.ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้รับบำนาญหรือเบี้่ยหวัดจากรัฐ และประการสุดท้ายคือ ไม่เป็นผู้มีรายได้สูง โดยเกณฑ์ชี้วัด 2 ตัวคือ มีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562) หรือ มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562
การวางหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ผู้แทนองค์กรภาคเกษตรหลายคนออกมาโจมตีว่า ทำให้เกษตรกรเสียโอกาส ไม่ได้รับการเยียวยาดูแล ทั้งที่ก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน ซึ่งในท้ายสุดภาครัฐชี้ว่า หากเป็นเกษตรกรที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้มีรายได้น้อย คือ มีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท และมีเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท ก็สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้
จากหลักเกณฑ์กลุ่มผู้มีรายได้น้อยข้างต้น คือ ผู้มีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท และมีเงินได้เพื่อเสียภาษีไม่เกิน 300,000 บาท หรือเฉลี่ยเป็นรายได้เดือนละไม่เกิน 25,000 บาท เป็นเกณฑ์คัดกรองผู้ได้สิทธิร่วมโครงการ “เราชนะ” ดังกล่าว แต่ปรากฏว่าพนักงาน “จน” ที่มีเงินฝากติดบัญชีไม่ถึง 500,000 บาท และรับเงินเดือนไม่เกิน 25,000 บาท ถูกตัดสิทธิเข้าโครงการนี้ เพราะเป็นลูกจ้างม.33 ในระบบประกันสังคม หรือลูกจ้างหน่วยงานรัฐ
โครงการเราชนะใช้เกณฑ์ความมั่นคงและรายได้ เพื่อแบ่งกลุ่มเป็นผู้มีรายได้ตํ่าและรายได้สูง มิได้ใช้เกณฑ์ด้านอาชีพมาเป็นตัวคัดกรอง เราเห็นว่า รัฐควรใช้เกณฑ์ชี้วัดนี้ เพื่อคัดกรองสำหรับประชาชนทุกกลุ่มอย่างถ้วนหน้า พนักงานลูกจ้างที่เป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะอยู่ในระบบประกันสังคม หรือเป็นลูกจ้างหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ถูกตัดสิทธิไปนั้น ควรได้สิทธิเข้าร่วมด้วยให้สมกับเป็นโครงการ “เราชนะ” อย่างแท้จริง