thansettakij
ข้อเท็จจริง “รุกที่รถไฟ 5 พันไร่” ที่ดิน “เขากระโดง”บุรีรัมย์ EP#2

ข้อเท็จจริง “รุกที่รถไฟ 5 พันไร่” ที่ดิน “เขากระโดง”บุรีรัมย์ EP#2

05 มี.ค. 2564 | 23:30 น.

ข้อเท็จจริง “รุกที่รถไฟ 5 พันไร่” ที่ดิน “เขากระโดง”บุรีรัมย์ EP#2 : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3659 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 ก.พ.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

มหากาพย์การบุกรุกเพื่อครอบครองที่ดินรถไฟในพื้นที่บุรีรัมย์ กำลังเดินหน้าไปสู่ข้อพิพาทและการต่อสู้กันระหว่างผู้ครอบครองสิทธิ์ที่เป็นเอกชนกับการรถไฟแห่งประเทศ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งแม้จะผ่านการอภิปรายในสภาไปแล้ว และรัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จะได้รับการลงคะแนนไว้วางใจอย่างท่วมท้น แต่กรณีข้อพิพาทและการถือครองเอกสารสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ยังไม่จบ....

ใน EP#1 ผมได้นำเสนอต้นตอของปมของข้อพิพาทในที่ดิน 5,083 ไร่ 80 ตารางวา ของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1304 ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้ โดยทำเป็นไทม์ไลน์ให้คนไทยได้ศึกษาว่า เรื่องมาบานปลายเอาเมื่อ 13 พ.ย.2513 ได้มีการประชุมร่วมระหว่างการรถไฟฯ กับผู้บุกรุก โดยผู้บุกรุกรับว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ นายชัย ชิดชอบ (เสียชีวิต) ขออาศัยที่ดินพิพาทจากการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ได้ยินยอมให้อาศัย

กระทั่ง วันที่ 26 ตุลาคม 2515 นายชัยฯ ได้นำที่ดินไปออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟเป็นโฉนดเลขที่ 3466 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน  558/10 ตารางวา (ในชื่อนายชัย ...ต่อมา วันที่ 21 ธ.ค.2535 ได้ขายให้นางละออง  ชิดชอบ  และนางละอองฯขายให้บริษัท ศิลาชัย)

เมื่อมี 1 ก็ต้องมี 2 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2518 นายประพันธ์ สมานประธาน ได้ออกโฉนดเลขที่ 8564 เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา มีการขายต่อเป็นทอดๆ จนเมื่อ 14 ก.ค.2540 ได้ขายให้ นางกรุณา ชิดชอบ ซึ่งนางกรุณา นำไปจำนองต่อธนาคารกรุงไทย โดยที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ออกหนังสือถึงธนาคารกรุงไทยเลขที่ 13129/8567 แจ้งและยืนยันว่าที่ดินอยู่ในเขตทางรถไฟ (30 ต.ค.2540)

วันที่ 5 ส.ค.2531 - การรถไฟฯ มีหนังสือที่ 1/4044/2531 ถึงกรมทางหลวง ขอให้กรมทางหลวงดำเนินการขอทำสัญญาให้ถูกต้อง โดยแจ้งว่า ทางหลวงหมายเลข 219 สายบุรีรัมย์ -ประโคนชัย ตัดผ่านที่ดินการรถไฟฯ ยังไม่มีการทำสัญญาอาศัยที่ดินให้ถูกต้อง

19 ม.ค.2532 - กรมทางหลวงมีหนังสือที่ คค.0607/656 ขอทำสัญญาอาศัยที่ดินการรถไฟฯ บริเวณทางหลวงหมายเลข 219 สายบุรีรัมย์ -ประโคนชัย ระหว่าง กม.1 + 740 – 5 +650 ตัดผ่านที่ดินการรถไฟเป็นระยะทาง 3,910 เมตร เขตทางกว้าง 20.00 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 156.400 ตารางเมตร

โน่นมีการลากยาวไปถึง 11 ต.ค.2532 จึงมีการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์เหนือพื้นดิน เพื่อสร้างทางหลวงหมายเลข 219 สายบุรีรัมย์ -ประโคนชัย ระหว่างผู้แทนการรถไฟฯ และกรมทางหลวง

แต่ข้อพิพาทในการถือครองก็ไม่ยุติ จนกระทั่ง 16 ก.ค.2539 - การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเรื่องปัญหาพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับราษฎร ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน

จากนั้น 18 ก.ค.2540 – จังหวัดบุรีรัมย์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย 

ฝีมาแตกเอาเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2541 - คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แจ้งความเห็นกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ (ตามหนังสือ นร.0601/211 ลง 17 มี.ค.2541) วินิจฉัยว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ 

บันทึกเรื่อง กรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง อ.บุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่การรถไฟฯ ระเบิดหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ ของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า “พิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ยุติว่า ที่ดินที่ราษฎร์ครอบครองบริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ที่เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินได้สำรวจและจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดซื้อที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาฉบับ พ.ศ. 2464 แต่ที่ดินในส่วนที่เป็นปัญหากรณีนี้มิได้ดำเนินการจัดซื้อ เพราะในแผนที่กำหนดไว้ว่าเป็นที่ป่ายังไม่มีเอกชนครอบครองทำประโยชน์ แม้ว่าพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2464 ได้กำหนดแนวเขตอย่างกว้างไว้สำหรับการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟ และไม่มีผลเป็นการเวนคืนที่ดินตามความเห็นของผู้แทนกรมที่ดินก็ตาม

แต่เมื่อได้ทำการสำรวจเส้นทางที่แน่นอน และทราบจำนวนที่ดินที่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว ก็จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อจากเอกชนและยกเลิกพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2462 เป็นตอนๆ ซึ่งแนวทางที่สำรวจแน่นอนแล้วนี้ ประกอบด้วยที่ดินของเอกชนที่จะต้องจัดซื้อตามพระราชกฤษฎีกา และที่ดินรกร้างว่างเปล่าของรัฐที่ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อ แต่มีสภาพเป็นที่ดินที่หวงห้ามไว้ในราชการ การยกเลิกพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2462 ย่อมหมายถึง ยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดินซึ่งเป็นของเอกชนในส่วนที่นอกเหนือจากแนวเขตที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินเท่านั้น มิใช่ยกเลิกการหวงห้ามทั้งหมด...

          เมื่อปรากฏว่าการสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดิน ที่ใช้สร้างทางรถไฟในปี 2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน รวมทั้งกรมรถไฟแผ่นดินได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแสดงไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และโดยที่ที่ดินบริเวณที่หารือซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟในขณะนั้นมีสภาพเป็นที่ป่ายังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือได้ว่า เป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจักเข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟแลทางหลวง” ชัดเจนนะครับ

เมื่อความเป็นเป็นแบบนี้ ทางการรถไฟฯจึงส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนที่ดินจากการครอบครองของ นายชัย  ชิดชอบ และ นางกรุณา  ชิดชอบ ปรากฏว่า ทางกรมที่ดินตั้งกรรมการสอบสวนและพิจารณาเห็นแย้งกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนด....ตะแล่มๆๆ

พลังแบบนี้แหละครับ ที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จึงอภิปรายสรุปว่า ในคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ นั้นมีคนถูกจำคุกจากเหตุไม่ปฏิบัติตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาถือว่าทำหน้าที่โดยทุจริต จำคุก 2 ปี

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า “ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2482 กำหนดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นเมื่อคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาสิ่งใด และส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย

สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีมีมติเช่นนั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้การทำงาน หรือการออกคำสั่งใด ๆ ของรัฐบาล เป็นความเห็นที่ไม่มีอะไรรองรับ หรือไม่มีบรรทัดฐาน ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อได้ว่าเป็นผู้ทรงความรู้ และเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เชื่อว่าความเห็นต่าง ๆ น่าจะถูกต้อง มิได้เป็นความเห็นลอย ๆ แต่มีผลบังคับผูกพันกับทุกหน่วยงานของรัฐ หากไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถือว่าขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงอาจผิดวินัย และมีผลในการบริหารราชการแผ่นดินได้”

เรื่องนี้ทอดยาวมาตั้งแต่บัดนั้นจนบัดป่านนี้ กระทั่ง 13 ก.พ.2552 – ช่วงเวลา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รับตำแหน่งธันวาคม 2551-สิงหาคม 2554) กรมที่ดิน (สมัยนายอนุวัฒ เมธีวิบูลวุฒิ เป็นอธิบดีกรมที่ดิน พ.ศ.2551-2555) จึงได้ตอบหนังสือว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์เป็นที่ดินการรถไฟที่สงวนหวงห้าม ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้  

ต่อมาข้อพิพาทในทีดินแปลงเหล่านี้มีการร้องไปยังปปช. 23 ธ.ค.2554 - คณะกรรมการ ปปช.วินิจฉัยว่า “โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564” เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นที่หวงห้ามเป็นการออกที่มิชอบด้วยกฎหมาย ส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และ พ.ร.บ.ปปช. พ.ศ.2542 มาตรา 99

13 มี.ค.2557 - ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาในคดีที่ราษฎรจำนวน 35 ราย ฟ้องการรถไฟฯ และกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนด ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ยกฟ้อง พิพากษาว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้โจทก์ทั้ง 35 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯเป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป

ความพัวพันในคดีมันรกรุงรังเรื่อยมา เพราะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือจากนายชัย จนวันที่ 24 ก.ย.2558 - ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาในคดีที่ราษฎร ฟ้องการรถไฟฯและกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดโดยอ้างว่า มี หนังสือรับรองขอทำประโยชน์ (น.ส.3ข.) ที่ซื้อมาจาก นายชัย ชิดชอบ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ยกฟ้อง โดยพิพากษาว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้โจทก์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯเป็นรายเดือนจนกว่าจะรื้อถอนและขนย้ายออกไป

13 มี.ค.2559  - ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ ยืนตามศาลชั้นต้น ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน

25 ก.ค.2559 - ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีราษฎรอ้าง น.ส.3 ข.ของนายชัย ชิดชอบ ไปขอออกโฉนด โดยศาลพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน

6 ก.พ.2560 - ศาลฎีกาพิพากษาคดีราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ฟ้องเพื่อขอออกโฉนด โดยศาลพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน  

***คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 842-876/2560 หน้า 42-44 ได้พิพากษาชัดเจนว่าที่ดินดังกล่าวได้อยู่ในหลักเกณฑ์เป็นที่ดินการรถไฟที่สงวนหวงห้ามเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) (11) และได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 6 (12) ตาม พ.ร.บ.จัดวางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้น  ความเห็นของกรมที่ดินรับฟังไม่ได้(ผิด) ฟังไม่ขึ้น  ผู้พิพากษาศาลฏีกาที่พิพากษาประกอบด้วย นายศรีอำพร ศาลิคุปต์ นางเมธินี ชโลธร (ประธานศาลฏีกาปัจจุบัน) และนายณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล)

ต่อมาเมื่อ 22 พ.ย. 2561 - ศาลฎีกาพิพากษาในคดีที่ราษฎร นำ น.ส.3 ข. ที่ซื้อจาก นายชัย  ชิดชอบ ขอให้ออกโฉนด โดยศาลฎีกาพิพากษายืนว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดิน

6 ส.ค.2562 - ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ พิพากษาในคดีที่การรถไฟฯฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อการรถไฟฯ ได้รับความเสียหาย ไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยพิพากษาว่าการรถไฟฯ เป็นเจ้าของของที่ดินพิพาททั้งหมด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ให้ที่ดินพิพาทขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนานเพียงใด ก็หาทำให้ที่ดินของโจทก์ขาดสภาพไปจากที่ดินรถไฟ

จึงถือว่าการที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินโจทก์อยู่เป็นการกระทำที่จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทั้งการที่จำเลยทั้งสี่คงครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อยู่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งหมดได้ ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯ

22 เม.ย.2563 - ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีการรถไฟฯฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อการรถไฟฯได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยศาลพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การรถไฟเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย  ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน

พิพากษากันหลายคดีว่าเป็นที่รถไฟ ที่ใครก็ครอบครองไม่ได้ แต่จนบัดป่านนี้การเพิกถอนสิทธิ์การครอบครองไม่มี การเพิกถอนโฉนดไม่เคยปรากฏ การเดินหน้าบังคับตามคำพิพากษาไม่มี

ประเทศนี้จึงมืดบอด สำหรับประชาชนคนไทยยังงัยละขอรับนายท่าน!