ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้ให้ความสำคัญกับ SME มาตลอด มีหลายหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจและกิจกรรมสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แม้แต่การมีพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบการพัฒนา SME โดยตรง คือ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ในปีเดียวกัน และวันนี้เรามีหน่วยงานกว่า 27 หน่วยงานทั้งของรัฐและวิสาหกิจที่ไม่นับรวมภาคเอกชนที่ทำงานสนับสนุน SME เฉพาะในส่วนของภาครัฐงบประมาณรวม ๆ กันปีละหลายแสนล้านบาท ทั้งเป็นงบบูรณาการและงบประจำในภารกิจหลักของหน่วยงานต่าง ๆ แต่ SME ของเราก็ยังมีปัญหาสารพัด
ทุกวันนี้ เสียงบ่นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุน มาตรการที่เกาไม่ถูกที่คันยังคงดังขึ้นและดังขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญหลายหน่วยงานต่างคิดต่างทำ ซึ่งหากมองในเชิงประสิทธิภาพของการทำงานแล้วจะพบว่าโดยมากจะทำงานซ้ำซ้อนกัน และหน่วยงานต่าง ๆ ชอบพูดว่า “ซ้ำเสริม ไม่ใช่ซ้ำซ้อน”
แต่ถ้าหากหน่วยงานจะมองแบบเปิดใจสักหน่อยจะพบว่างานที่ทำนั้น หลายงาน “ซ้ำซ้อน” และ “ไม่มีประสิทธิภาพ” ไม่คุ้มกับงบประมาณที่ลงไปและทำให้ไม่มีพลังในการสนับสนุน SME และยังสร้างความสับสนในบทบาทของตัวเองด้วย ความชำนาญในหน่วยงานไม่มีแต่คิดว่าทำได้ เพราะการจ้างคนอื่นมาทำแทนและทำได้ทุกอย่าง จนวันนี้คนในหน่วยงานพัฒนา SME เก่งเรื่องระเบียบว่าจ้างที่ปรึกษามากกว่าการให้คำแนะนำ SME
ผมมาที่ “น่าน” อีกครั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามที่กรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา มอบหมายให้มาติดตามงานที่เคยให้ข้อเสนอแนะกับคณะรัฐมนตรีเรื่องการบรูณาการงานด้านการพัฒนาและสนับสนุน SME พร้อมกับทีมงานของ สสว. และ SME Bank ที่ลงพื้นที่สนับสนุนการต่อยอดในการสร้างเครือข่ายกลุ่มกาแฟของน่านกับวิสาหกิจกาแฟของวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการช่วยขยายตลาดเมล็ดกาแฟให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำที่น่านเข้ากับกลุ่มผู้ผลิตกลางน้ำและตลาดต่างประเทศ
และปัจจุบันนี้ “วัชรี พรมทอง” หรือ “น้องแอ๋ว” เจ้าของแบรนด์ดัง “ภูค๊อฟฟี่” และ “ภูมิใจ๋ ค๊อฟฟี่” เล่าว่าให้ผมฟังว่า เธอและเพื่อนช่วยกันสร้างเครือข่ายกาแฟน่านขึ้นมา ตั้งแต่การตลาด การผลิต จนไปถึงต้นน้ำ ซึ่งวันนี้สามารถสานต่อลงไปถึงต้นน้ำผู้ปลูกกาแฟไปแล้วกว่า 1,400 ครอบครัว และมุ่งมั่นจะขยายให้มากได้ต่อไปอีกหากสามารถเชื่อมกับผู้แปรรูปและตลาดกาแฟสำเร็จรูปให้กว้างออกไปมากกว่าที่ตนเองและผองเพื่อนทำกันอยู่ที่จังหวัดน่าน
ทั้งหมดนี้คือแนวคิดของ “เกษตรกรอุตสาหกรรม” หรืออุตสาหกรรมที่ 6 ที่ภาคการเกษตร การผลิต การแปรรูป และการตลาดต้องเชื่อมโยงกัน ทั้งจากซ้ายไปขวา คือจากภาคการเกษตรไปการตลาด หรือจากการตลาดมายังภาคการเกษตร กล่าวคือ ข้อมูลวัตถุดิบที่ผลิตอยู่ การแปรรูปและตลาดจะต้องคิดค้นว่าสามารถนำไปตอบสนองความต้องการตลาดอย่างไร และจากขวามาซ้าย ก็คือ ข้อมูลความต้องการของตลาดจะต้องถูกส่งกลับมาที่การแปรรูปและการผลิตวัตถุดิบเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างไร
เรียกว่าผลิตตามที่ตลาดต้องการ หรือ Demand driven ดังนั้นแนวคิดนี้จะขาดความรู้ด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ที่เรียกอุตสาหกรรมที่ 6 ก็เพราะว่า อุตสาหกรรมถูกแบ่งเป็น 3 ขั้น คือ เกษตรกรรมขั้นที่ 1 อุตสาหกรรมแปรรูปคือ อุตสาหกรรมขั้นที่ 2 และการตลาดเป็นอุตสาหกรรมขั้นที่ 3 ดังนั้น 1 x 2 x 3 = 6 หากขาดขั้นใดขั้นหนึ่ง ขั้นนั้นก็เป็น 0 ซึ่งหากขั้นใดเป็น 0 เมื่อคูณเข้าไปในสมการแล้ว ผลลัพธ์คือ 0 ดังนั้น ต้องมีทุกด้านและเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งและแน่นหนา ถ้าหากใครไปที่น่าน ลองไปถามน้องแอ๋วดูว่า เขาซื้อกาแฟจากเกษตรกรอย่างไร เขาเข้าไปทำความเข้าใจและช่วยเหลือกับเกษตรกรผู้ผลิตอย่างไร ก็อาจทำให้พอเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น
เรื่องแนวคิดของคลัสเตอร์เพื่อเชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่มูลค่า ไม่ได้ง่ายแบบที่เห็นในหนังสือ ในโลกของความจริงแล้วมีกิจกรรมสนับสนุนหลายจิ๊กซอว์ที่ต้องเติมเต็ม ช่วยกันทำให้สิ่งที่ต้องทำ แต่ทุกคนไม่ต้องทำ เรียกว่าการแบ่งงานกันทำหรือแบ่งงานตามความชำนาญ ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานในภาพรวมและกับทุกๆคนในห่วงโซ่
ยกตัวอย่าง “จิ๊กซอว์” อันหนึ่งในกลุ่มคลัสเตอร์แปรรูปเกษตรและอาหารของจังหวัดน่านที่ปิดช่องว่างของการผลิตสินค้าของ SME ในกลุ่ม หลายคนมีการพัฒนาสินค้าได้ระดับหนึ่งแล้ว ต้องการสเกลอัพให้เป็นการทดสอบตลาดที่กว้างขึ้น การผลิตในปริมาณมากพอประมาณ การหาแหล่งว่าจ้างผลิตสินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น จะให้ลงทุนสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรทันทีก็ยาก เพราะต้นทุนจม หากการตลาดไม่ดีก็พาลเจ๊งเอาง่าย ๆ และต้นทุนต่อหน่วยก็สูง
ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน แม่งานของคลัสเตอร์นี้ก็ต่อจิ๊กซอว์ให้มีโรงงานรับจ้างผลิตให้กับ SME ประเภทแปรรูปอาหารให้กับ SME ในเครือข่ายได้ คือโรงงานของบริษัท โกลเด้น พีค โฮมฟูด จำกัด ซึ่งบริหารโดย “น้องแอร์” ศรตา จันทร์หาญ อดีตแอร์โฮสเตส ผู้หอบความชอบและความฝันในเรื่องอาหารกลับมาบ้านเกิด และสร้างธุรกิจอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตอาหารเหนือแบบรสชาติดั้งเดิมและอาหารสุขภาพจากพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ รวมทั้งพริกแกงต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ “ลูกจัน” เข้าใจว่า คุณแม่ของน้องแอร์ชื่อ “จัน” …. ง่าย ๆ ตรง ๆ กันอย่างนี้แหละครับ แต่อยากให้แนะนำ
แต่ที่ผมสนใจมากถึงความสำคัญของบริษัทนี้ก็คือ การเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญยิ่งของคลัสเตอร์เกษตรแปรรูปและอาหารของน่านในฐานะโซ่ข้อกลางของ Supply Chain การแปรรูปการเกษตรและอาหาร ทำให้เปิดโอกาส SME รายเล็ก ๆ ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานในระยะเริ่มต้น ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้รายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่าย ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงงานแห่งนี้ซึ่งได้มาตรฐานทุกอย่างที่ธุรกิจแปรรูปอาหารจำเป็นต้องมี
และกำลังจะขยายกำลังการผลิตออกไปเพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบ SME ในเครือข่ายที่ต้องการว่าจ้างให้ที่แห่งนี้ผลิตสินค้าตนเองเพิ่มมากขึ้นในระยะแรกที่ทำการทดสอบตลาด และหากสินค้าตนเองสามารถทำตลาดได้ ยอดขายเพิ่ม จนคุ้มที่จะลงทุนสร้างโรงงานเอง ก็ค่อยขยับขยายภายหลัง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่น น้องการ์ตูนเจ้าของน้ำจิ้มข้าวมันไก่ชื่อดัง แบรนด์ “โกเต็ง” ของน่านที่ใครไม่เคยลอง … ต้องลองละครับ
“Golden Peak Home Food Co. Ltd” แห่งนี้นอกจากจะมีสินค้าอาหารเหนือรสดั้งเดิมและน้ำผลไม้สุขภาพแบบที่หาไม่ได้ในตลาดมากนัก เช่น น้ำฟักทอง ฯลฯ การรับเป็นข้อต่อขั้นกลางในห่วงโซ่ของคลัสเตอร์แปรรูปคือบทบาทต่ออุตสาหกรรมในภาพรวมของน่านที่สำคัญยิ่งต่อสมาชิกจำนวนมากที่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของตนเอง เพื่อทดสอบตลาดอยู่ ทำให้วันนี้ งานผลิตของบริษัทนี้กว่า 90% เป็นการผลิตให้กับ SME รายอื่น ๆ ซึ่งน้องแอร์ก็ยังคงไม่ลืมความฝันของเธอที่กำลังผลิตอาหารสุขภาพให้กับแฟนประจำของสินค้าเธอต่อไป วันนั้นผมเห็นแว่บ ๆ ว่ามีเครื่องดื่มปลีกล้วย ผสมขิงและอินทผาลัมผสมขิงด้วย ภายใต้ชื่อ “Full Ounce” น่าจะดีกับสุภาพสตรีนะครับ ก็ต้องให้กำลังใจและอุดหนุนกันละครับ
ทุกกิจการสามารถเป็นตัวจุดประกายหรือเป็นตัวคูณของการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิดของเกษตรอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมที่ 6 ได้ ไม่ต้องใหญ่ ไม่ต้องแกรนด์ มหึมา อาจเป็นธุรกิจเล็ก ๆ โดดๆ อย่างร้านกาแฟที่ผมกับน้อง ๆ ไปแวะเยือน ชื่อน่ารัก “มานานะ คาเฟ่” พอเห็นบรรยากาศและวิวเงินล้านที่เป็นที่นาข้าวและแปลงผักที่เขียวสะอาดตาแล้วจิบการแฟดูวิวแบบพาโนรามาเลยครับ
แต่ที่ผมฟังท่านนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ลงพื้นที่ด้วย ให้คำแนะนำน้องเหมียว หรือ บุษบา ปันเจริญ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่ดูแลร้านว่า ร้านควรคุยกับชุมชนที่เป็นเจ้าของแปลงนาและผักรอบ ๆ ร้าน ที่เป็นเจ้าของวิวของร้านตอนนี้ ให้ทำพื้นที่ให้สวยและปลูกพืชผักสะอาดที่นำมาเป็นวัตถุดิบอาหารในร้านและสามารถขายให้กับลูกค้าที่มาทานหรือส่งขายในเมือง โดยการบริหารจัดการที่เป็นระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น
ผมยังนึกภาพไปไกลว่า มาทานอาหารรสเด็ดจากวัตถุดิบในพื้นที่วิวสวยเบื้องหน้าแล้ว ยังลงไปเดินในแปลงผักเพื่อเลือกซื้อผักต้นสวย ๆ ติดมือกลับบ้านอีกด้วย ซึ่งผมคิดเอาเองว่าน่าจะช่วยทั้งชุมชนและเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยร้านให้มีอัตลักษณ์ในเมนูและทำให้วิวที่สวยงาม มีเรื่องราวแล้ว ยังทานได้อีก เรียกว่า “วิวที่ทานได้” ผมว่าลูกค้าจะ “อิน” และรู้สึกถึงคุณค่ากับอาหารที่ออกมาวางเบื้องหน้าของเขามากกว่าเป็นเพียงแค่อาหาร และนี่คือ วิถีเกษตรอุตสาหกรรม ที่ทุกคนตลอดห่วงโซ่อุปทานมีส่วนสร้างคุณค่าครับ
ผมฟังเขามาและเอามาเล่าต่อ ผ่านการกรองในความคิดของผมเพื่อมองภาพของการพัฒนา SME ให้ออกมาเป็นมาตรการนั้น จะเห็นว่าวันนี้ผู้ประกอบการ SME ที่ประสบความสำเร็จ และยังมีแรงต่อสู้กับการผันเปลี่ยนที่รุนแรงและรวดเร็วของปัจจัยรอบด้าน ซึ่งแน่นอนนอนว่าคนตัวเล็กจะพกอาวุธและมีอุปกรณ์ครบด้านเป็นไปได้ยาก แต่การรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ที่ต่างคนต่างช่วยกันทำในสิ่งที่ถนัด แต่ละคนเอาสิ่งที่ตนเองมีมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้มีจิ๊กซอว์ครบในการทำธุรกิจ เช่นที่เครือข่ายอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหารของจังหวัดน่านทำในวันนี้ ทำให้เห็นภาพและประโยชน์ในระดับมหภาคของแนวคิดเกษตรอุตสาหกรรมได้ขัดเจนมากขึ้น
วันนี้ที่ “น่าน” ผู้ประกอบสร้างเครือข่ายการพัฒนา SME ในบางกลุ่มได้เข็มแข็งมาก และที่ผมสัมผัสมาตลอดเวลาหลายปีนั้น พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ที่สร้างฝันร่วมกัน โดยเอา “ใจ” มาเรียงร้อยต่อกัน เอา “สมอง” มาระดมกองรวมกันเพื่อเครือข่ายในการช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ “ต้นทาง” จนถึง “ปลายทาง” โดยมีความอยู่รอด เติบโต และความยั่งยืนของ SME ในท้องถิ่นเป็นเดิมพัน
สำหรับส่วนราชการที่กำลังพัฒนา SME ในพื้นที่ซึ่งหลายหน่วยงานกำลังจะมีการสร้างเครือข่ายระหว่างกันเพื่อให้จิ๊กซอว์ของการพัฒนา SME ในจังหวัดมีครบและมีประสิทธิภาพ เหมือนกับที่ชาว SME ในจังหวัดน่านได้ทำให้เป็นตัวอย่างไว้แล้ว คราวนี้ต้องมาดูว่าหน่วยงานพัฒนาจะสร้างเครือข่ายระหว่างกันเองเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ในการช่วยกันพัฒนา SME ในจังหวัดน่านให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้หรือไม่ ซึ่งตอนนี้เข้าใจว่าเริ่มคุยกันและวางแผนกันไปบ้างแล้วในบางหน่วยงาน …… อีกสองสามอาทิตย์ … ผมจะนำมาเล่าให้ฟังครับว่าพวกเขาสามารถทำได้เหมือนที่พวกเขาพร่ำสอนให้ชาว SME สร้างเครือข่ายกันได้หรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง :