วัคซีนต้านโควิด-19 ของขวัญแด่มวลมนุษยชาติ

02 ม.ค. 2564 | 23:50 น.

ในปี 2563 โลกต้องเผชิญกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคระบาด “โควิด-19” มาเป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ การถูกจู่โจมแบบตั้งตัวไม่ทันด้วยความที่เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ไม่มียารักษาเฉพาะ รวมทั้งไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำให้ “โควิด-19” แผลงฤทธิ์คร่าชีวิตประชากรโลกทั่วทุกทวีปไปกว่า 1.7 ล้านรายราวใบไม้ร่วง และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกมากกว่า  81.1 ล้านราย (ข้อมูล ณ 28 ธ.ค. 2563) 

 

แต่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ศักราชใหม่ 2564 พร้อมด้วยข่าวดีที่เป็นความหวังว่า เรากำลังจะทิ้ง “โควิด-19” เอาไว้เบื้องหลัง เนื่องจากโลกมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจากหลากหลายบริษัทผู้ผลิตและสถาบันวิจัย ปลายปี 2563 มีการอนุมัติใช้วัคซีนของผู้ผลิตมากกว่า 6 ราย (ดังตารางประกอบหมายเลข 1) อย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับเริ่มมีโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนในหลายประเทศโดยมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เปราะบางต่อเชื้อโควิด-19 มากที่สุด และกลุ่มบุคลากรการแพทย์-อาสาสมัครสาธารณสุขที่เป็น “นักรบด่านหน้า” ในการสู้รบปรบมือกับ “โควิด-19” 

 

วัคซีนต้านโควิด-19 ของขวัญแด่มวลมนุษยชาติ

 

กระบวนการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกได้เริ่มขึ้นแล้ว

จนถึง ณ สัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 บลูมเบิร์ก สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า ใน 9 ประเทศทั่วโลก มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนแล้วมากกว่า 4.4 ล้านโดส กล่าวได้ว่า กระบวนการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวนมากที่สุด คือมีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 1.94 ล้านโดส หลังจากที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งแรกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในวันที่ 14 ธ.ค. 2563  (ตารางประกอบหมายเลข 3)   

ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี (2563) สหรัฐจะทำการฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมวิจัยกับบริษัทบิออนเทคจากเยอรมนี อีกจำนวน 5.1 ล้านโดส และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาจำนวน 6 ล้านโดส การจัดสรรควัคซีนของสหรัฐในช่วงต้นๆนี้ เน้นไปที่พื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูง เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในประเทศสหรัฐ (มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2.1 ล้านราย) ก็จะได้รับการจัดสรรวัคซีนมากที่สุด 

ทั้งนี้ ประเทศอื่นๆ ที่ได้ทำการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้ประชาชนในระดับมวลชนแล้วนั้น มีอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ แคนาดา อิสราเอล บาห์เรน ชิลี และเม็กซิโก โดยจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการวิจัยและผลิตวัคซีนได้เองนั้น (ดังตารางหมายเลข 1 และ 2) ได้เริ่มฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนมาตั้งแต่เดือนก.ค.-ส.ค. ก่อนที่จะมีการทดสอบในระยะสุดท้าย และจนถึงขณะนี้ ทั้งสองประเทศได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วมากกว่า 1.4 ล้านโดส 

ประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีการเร่งรัดอนุมัติกันรวดเร็วกว่าวัคซีนป้องกันโรคไหนๆในประวัติศาสตร์การแพทย์ของโลก แม้จะยังมีข้อกังขาแต่ก็คลี่คลายลงไปมากเมื่อมีผลการทดลองทางคลินิกในขั้นสุดท้ายของบริษัทผู้ผลิตออกมายืนยันมากขึ้น ทั้งนี้ ปกติแล้วการอนุมัติหรือรับรองวัคซีน ต้องใช้เวลาเป็นปี แต่วัคซีนต้านโควิด-19 สูตรแรกที่ได้รับการอนุมัติ ใช้เวลาราว 6 เดือนเท่านั้น โดยเป็นวัคซีนของจีนที่อนุมัติให้ใช้เฉพาะภายในกองทัพในราวเดือนมิ.ย. ต่อมาจีนได้จดสิทธิบัตรรับรองวัคซีนโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนส.ค. กระบวนการที่เร่งรัดดังกล่าวทำให้หลายคนยังไม่ค่อยมั่นใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนมากนัก ดังจะเห็นได้ว่าในหลายประเทศรวมทั้งในสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด เมื่อมีการทำสำรวจความคิดเห็นพบว่า ประชาชนจำนวนมากตอบว่า ยังไม่มั่นใจและไม่ต้องการฉีดวัคซีน 

วัคซีนต้านโควิด-19 ของขวัญแด่มวลมนุษยชาติ

 

การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ของสหรัฐ และบิออนเทค (BioNTech) ของเยอรมนีซึ่งทำการวิจัยร่วมกัน ได้กลายเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายแรกที่ออกมาประกาศผลการทดลองวัคซีนว่า มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ถึง 94% หลังจากนั้น ก็มีการประกาศข่าวดีตามๆ กันมา โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของอังกฤษ รัสเซีย หรือจีน (ดังตารางหมายเลข 2) 

เมื่ออุปสรรคด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนคลี่คลายลงไป ความท้าทายสำคัญที่เหลืออยู่คือประเด็นการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มพันธมิตรวัคซีนเพื่อประชาชน (People Vaccine Alliance - PVA) ได้เผยแพร่รายงานเตือนว่า ประชาชนในกลุ่มประเทศยากจน มีแนวโน้มที่จะเข้าไม่ถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิดภายในปีหน้า (2564) เนื่องจากกลุ่มประเทศ รํ่ารวยหลายประเทศได้กักตุนวัคซีนดังกล่าวไว้ในปริมาณมากเกินความจำเป็น เช่น แคนาดาที่มีประชากรราว 37 ล้านคนนั้น ขณะนี้มีปริมาณวัคซีนที่จองซื้อไว้ มากพอที่จะฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศได้ถึง 4 รอบ เป็นต้น 

ประเทศรองลงมาที่เข้าถึงวัคซีนมากที่สุดคือ อังกฤษ ออสเตรเลีย ออสเตรีย และเบลเยียม เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้น้อยเกือบ 70 ประเทศ ที่ยังขาดการเข้าถึงวัคซีน อาทิ เคนยา เมียนมา ไนจีเรีย ปากีสถาน และยูเครน โดยประเทศเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้เฉลี่ย 1 ใน 10 คนเท่านั้นภายในปีหน้า

สำหรับเอเชีย เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีวัคซีนมากพอสำหรับประชากร 88% ของประชากร 50 ล้านคนทั้งประเทศ ขณะที่ฟิลิปปินส์สามารถสั่งซื้อได้เพียง 2.6 ล้านโดสสำหรับการส่งมอบในปีหน้า ครอบคลุมประชากรเพียง 1.3 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดกว่า 106 ล้านคน

กลุ่มประเทศรํ่ารวย ซึ่งมีประชากรคิดเป็น 14% ของประชากรทั่วโลก ขณะนี้มีการจับจองวัคซีนได้แล้วถึง 53% ของสต็อกวัคซีนที่กำลังผลิตทั้งในสิ้นปีนี้ (2563) และในปีหน้า (2564) อาทิ สหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และอิสราเอล ประเทศเหล่านี้ มีจำนวนวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากรแล้ว ขณะที่กลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง และโดยส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา ยังขาดแคลนการเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว

 

วัคซีนต้านโควิด-19 ของขวัญแด่มวลมนุษยชาติ

 

ถึงแม้ว่าสหประชาชาติจะมีโครงการ “โคแวกซ์” (COVAX) ที่มีเป้าหมายเร่งการพัฒนาและจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศยากจน โดยขณะนี้มีชาติสมาชิกกว่า 184 ประเทศที่เข้าร่วมในโครงการ แต่ก็ยังไม่อาจรับประกันได้ว่า กลุ่มประเทศยากจนหลายชาติจะเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้ภายใต้ปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีราคาต่อโดสถูกที่สุดในขณะนี้  ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัคซีนจำนวน 64% ให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และข่าวดียิ่งไปกว่านั้นคือ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีข้อตกลงที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนต้าน-โควิด-19 ให้กับประเทศไทย 

 

วัคซีนต้านโควิด-19 ของขวัญแด่มวลมนุษยชาติ

โครงการวัคซีนต้านโควิดในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการเซ็นสัญญาจองซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ล่วงหน้าเอาไว้เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. โดยเป็นการจองล่วงหน้าเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการวัคซีนกว่า 2,000 ล้านบาท 

มติ ครม.ดังกล่าวระบุว่าสัญญาจองและจัดซื้อนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ภายในปี พ.ศ. 2564 และจะลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว ลดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้เห็นวัคซีนต้านโควิด-19 ช่วงเดือนพ.ค. หรือกลางปีหน้า หลังจากนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้า ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยตั้งเป้าว่าจะมอบวัคซีนชุดแรก 26 ล้านโดส ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตได้ในกลางปี 2564 ซึ่งคนกลุ่มแรกๆ ที่จะไดัรับวัคซีนคือ กลุ่มผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,641 หน้า 8 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564