ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หนึ่งในคณะที่ปรึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากโควิด-19 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โพสต์เฟซบุ๊ก Somchai Jitsuchon ในหัวข้อ หลากความคิดว่าด้วยวัคซีนและการกลายพันธุ์ เกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า
1. ไทยจะได้วัคซีนในขนาดที่เป็นเรื่องเป็นราว (เช่นเกิน 10% ของประชากร) ช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วและอีกหลายประเทศกำลังพัฒนา คือจะได้จาก AstraZeneca ผ่านการผลิตในไทยโดยบริษัท Siam Bioscience จำนวน 26 ล้านโดส โดยอาจเริ่มได้รับในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งจะใช้เวลาในการฉีดตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ถึงจะหมด คิดเป็น 20% ของประชากรไทย (คนละ 2 โดส จำนวน 13 ล้านคน)
2. มีความพยายามเพิ่มจำนวนวัคซีนที่คนไทยจะได้รับภายในปี 2564 เช่นเพิ่มคำสั่งซื้อจาก AstraZeneca อีก 26 ล้านโดส แต่ยังต้องพิจารณาว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงไปไหมที่จะขึ้นกับวัคซีนเพียง platform เดียว ถ้าเผื่อมีอะไรผิดพลาด
เช่น เกิดกรณีผลข้างเคียงรุนแรง แม้อัตราการเกิดไม่สูง แต่ประชาชนอาจไม่ยอมฉีด ทำให้วัคซีนเหลือ อีกทั้งหากได้จำนวน 52 ล้านโดสในครึ่งหลังของปีก็เป็นความท้าทายว่าจะสามารถทำการฉีดได้หมดภายในปี 2564 ไหม ต้องมีการลงทุนระบบ logistic อีกบางเรื่องเช่นซื้อตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาวัคซีน (ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาของบประมาณไม่ผ่าน)
3. มีการเจรจาซื้อจาก Sinovac ประเทศจีนจำนวน 2 ล้านโดสในครึ่งแรกของปีนี้ (2 แสนเดือน กพ. 8 แสน เดือนมีนาคม และ 1 ล้านเดือนเมษายน) แต่วัคซีนของเจ้านี้อาจได้รับการยอมรับน้อยกว่า AstraZeneca เพราะยังไม่มีผลการพัฒนาตีพิมพ์ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเท่า บุคคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกเองก็อาจลังเลไม่ยอมฉีด อีกอย่างราคาจะแพงกว่า AstraZeneca ถึง 2-3 เท่า ข้อดีคือเป็นการไม่พึ่งพิงวัคซีนเพียง platform เดียว
4. จะหาซื้อวัคซีนจากเจ้าอื่นที่ขึ้นทะเบียนแล้ว (Pfizer, Moderna) ก็มีปัญหาว่าเขาถูกจองซื้อมากกว่ากำลังการผลิตในปี 2564 แล้ว ถ้าจะได้ก็อาจต้องเป็นปี 2565 ไปแล้ว ซึ่งถึงตอนนั้นน่าจะมีเจ้าอื่นอีกหลายรายที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเพิ่มขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องรีบจ่ายเงินซื้อในราคาแพงตอนนี้ (ปี 2564 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเป็นของผู้ขาย แต่พอเข้าปี 2565 แล้วอาจกลับข้างเป็นตลาดของผู้ซื้อ)
5. ทางเลือกเชิงนโยบายในตอนนี้จึงมีความท้าทายว่าจะจัดการความเสี่ยงด้านใดระหว่าง (ก) รีบจองเพิ่มอาจจะจาก 1-2 เจ้า หรือมากกว่านั้น และยอมจ่ายแพงรวมทั้งรับความเสี่ยงที่วัคซีนมีปัญหาในกรณีจองจากไม่เกิน 2 เจ้า (ข) ชะลอการจองไปก่อน รอให้ฝุ่นในตลาดจางลง ในขณะนี้ก็ทำการปิดเมืองปิดกิจการบางส่วน
6. ถ้าเรามีเงินถุงเงินถัง กลยุทธที่ดีอาจเป็นการจองซื้อแต่เนิ่น ๆ จาก 5-6 เจ้าเป็นอย่างน้อย แบบที่อเมริกาทำ แต่ความจริงคือเราไม่มีเงินขนาดนั้น และที่สำคัญเลยช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้วหากต้องการได้วัคซีนเพียงพอสำหรับปี 2564
7. อาจยังมีหวังว่ามีวัคซีนราคาถูกออกมาภายในปี 2564 ผ่านช่องทางอื่น เช่นจีน (ซึ่งเคยสัญญาว่าจะขายถูกหรือให้ฟรี แต่ Sinovac กลับขายแพง) หรือช่องทาง Covax ที่เป็น platform จัดซื้อวัคซีนราคาถูกให้ประเทศยากจน ซึ่งจนถึงนาทีนี้ยังดูจะเป็น 'เสือกระดาษ' มากกว่า เพราะแข่งซื้อวัคซีน 2-3 เจ้าแรกไม่ทันประเทศร่ำรวยที่ซื้อแบบ bilateral แต่ในอนาคตหากมีวัคซีนสำเร็จมากขึ้นอาจกลายเป็นเสือจริงไม่ใช่เพียงเสือกระดาษ และถ้าโชคดีวัคซีนเจ้าอื่นสำเร็จเร็วและผลิดได้มากเร็ว เราก็อาจได้วัคซีนผ่านช่องทางนี้เร็วกว่าปี 2565 (เล็กน้อย)
8. อีกความหวังหนึ่งคือประเทศรวยที่จองซื้อเกินความต้องการ เช่น อเมริกา แคนาดา อังกฤษ อาจ 'คืน' supply ให้ตลาด ทำให้หาวัคซีนราคาถูกลงได้ภายในปี 2564
9. เรื่องการกลายพันธุ์ของวัคซีน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าวัคซีนโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้กลายพันธุ์ช้ากว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ 10 เท่า ดังนั้นกว่าจะกลายพันธุ์จนวัคซีนปัจจุบันใช้ไม่ได้น่าจะใช้เวลากว่า 1-2 ปี การกลายพันธ์ที่พบแล้วเช่นในอังกฤษก็ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าวัคซีนปัจจุบันจะเอาไม่อยู่ ผลกระทบจริง ๆ คือการแพร่เชื้อเร็วจะทำให้มีคนตายมากขึ้นพอควร กลายเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุข จนอาจต้องทำการปิดเมืองเข้มข้นขึ้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น
ปล. สถานการณ์เรื่องวัคซีนอาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่กล่าวข้างต้นได้ ตามพัฒนาการของ R&D ด้านวัคซีน demand & supply
ที่มา: เฟซบุ๊ก Somchai Jitsuchon
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่ง "วัคซีนโควิด" 36 ล้านโดส “นายกฯ” เผยอีก 3 เดือนเริ่มฉีดให้คนไทย