ธุรกิจมืดกระทืบเศรษฐกิจสูญ 8.2 หมื่นล้าน GDP หาย 0.5%

08 ม.ค. 2564 | 06:30 น.

ตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 ใหม่พุ่งไม่หยุด 2 คลัสเตอร์ธุรกิจใต้ดิน “บ่อน-แรงงานเถื่อน”พ่นพิษหนัก สมุทรสาครจากตลาดกลางกุ้งลามเข้าโรงงาน เขย่าฐานการผลิตอาหารกระป๋องไทยระส่ำ ล็อกดาวน์5จังหวัดชายทะเลตะวันออกหวั่นภาคผลิตสะดุด นักเล่นเดินสายแพร่เชื้อทั้งประเทศ กกร.ชี้กดการเติบโตเศรษฐกิจไทยลงอีก 0.5 % ทำสูญ 82,000 ล้าน

 

สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จากวงผลประโยชน์ใต้ดินโผล่ลามภาคเศรษฐกิจ นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ใหม่ หากคุมการระบาดรอบใหม่ได้ใน 3 เดือน จะขยายได้ในกรอบ 1.5-3.5 % จากเดิม 2.0-4.0 % หรือลดลง 0.5 % (คิดเป็นมูลค่าความมั่งคั่งที่เสียไป 82,250 ล้านบาท)  ขณะที่นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ชัดเจน แต่รับว่ามีความเป็นห่วง และคนตกงานเพิ่มขึ้น โดยข้อเสนอกกร.ถึงรัฐบาล ขอแก้ปัญหาให้ตรงจุดถึงต้นตอการแพร่กระจาย ดูแลคนงานต่างด้าวให้เหมาะสมเพื่อระงับการแพร่เชื้อ และดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายควบคู่กับข้อเสนอมาตรการเยียวยาอื่น

 

ลามโรงงานอาหารกระป๋อง

 

คลัสเตอร์สมุทรสาครที่มีศูนย์ กลางการแพร่ระบาดจากตลาดกลางกุ้งมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 นั้น มีการติดเชื้อกระจายไปถึง 45 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 2,536 ราย สูงสุดที่สมุทรสาคร จำนวน 2,296 ราย รองลงมาคือ กรุงเทพฯ 86 ราย นครปฐม 38 รายสมุทรปราการ 33 ราย

 

นอกจากพื้นที่โดยรอบตลาดกลางกุ้งที่มีการปิดล็อกห้ามคนเข้าออก และตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อ เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายจากโรค ได้มีการขยายการตรวจเชิงรุกในกลุ่มชุมนุมชนแรงงานต่างด้าวอื่น ๆ ในจังหวัด รวมถึงภายในโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร จนพบมีแรงงานในโรงงานต่าง ๆ ติดเชื้ออีกกว่า 900 ราย ก่อกระแสความวิตกอีกรอบ

 

บริษัท พัทยา ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลบรรจุกระป๋องตรานอติลุส รับว่ามีพนักงานบางส่วนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สอบสวนและกักกันผู้มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อทันที รวมถึงมาตรการและแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดเร่งด่วนเข้มข้นสูงสุด ภายใต้การประสานและร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด

 

ด้านบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง เผยว่า ได้เร่งตรวจเชื้อพนักงานทุกวันในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีกว่า 27,522 คน ตรวจไปแล้วกว่า 23,630 คน (85%) พบติดเชื้อ 69 คน หรือเพียง 0.29 % ซึ่งได้แยกกักตัวและส่งรักษากับภาครัฐโดยการตรวจสอบจะเสร็จสิ้นทั้งหมดในสัปดาห์หน้า

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินว่า การปิดตลาดกลางกุ้งหากการติดเชื้อไม่ลุกลามจนล็อกดาวน์วงกว้าง  ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียเป็นมูลค่าราว 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน โดยกระทบสินค้าประมงและอาหารทะเล 13,000 ล้านบาท คนชะลอการฉลองปีใหม่ 15,000 ล้านบาท ลดการเดินทางท่องเที่ยว 17,000 ล้านบาท

 

การระบาดที่ลามถึงแรงงานเข้าโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมุทรสาคร นับเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์นํ้า โดยปริมาณสัตว์นํ้าสดที่ใช้ในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์นํ้าเค็ม มีสัดส่วนเกือบ 40% ของทั้งประเทศ (ไม่รวมวัตถุดิบนำเข้า) 

 

เปิดขุมทรัพย์บ่อนแรงงานเถื่อน

 

คุมตะวันออกเบรก“อีอีซี”

 

ขณะจ.ระยองพบผู้ติดเชื้อถึง 426 ราย เชื่อมโยงสถานที่ลักลอบเล่นการพนันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ และนำไปติดคนที่ไม่มีประวัติเชื่อมโยงกับบ่อน พบมีการกระจายตัวไปยังจังหวัดต่างๆ ไกลออกไปถึงอำนาจเจริญ หรือเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกคือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จำนวนมาก

 

ล่าสุด รัฐบาลมีคำสั่งให้ยกระดับให้ 4 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานผลิตใหญ่ของประเเทศ เป็นที่รวมของอุตสาหกรรมหลัก อาทิ ปิโตรเคมี เหล็ก ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แปรรูปสินค้าเกษตร มีท่าเรือหลักระดับโลก 2 แห่งที่มาบตาพุดและแหลมฉบัง รวมทั้งกำลังปลุกปั้นอีอีซี ให้เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ และสมุทรสาคร ซึ่งเป็นฐานผลิตหลักด้านอาหาร รวมเป็น 5 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และออกข้อกำหนดเพื่อหยุดยั้งการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด โดยจะอนุญาตเฉพาะรายแจ้งเหตุผลความจำเป็นเท่านั้น

 

แม้การ“คุมเข้ม” 5 จังหวัดฐานผลิตอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ จะยังให้โรงงานยังเดินเครื่องจักร คนงานเข้าทำงาน รถขนส่งวัตถุดิบและสินค้ายังเดินทางได้ แต่การจำกัดการเดินทางของคน สร้างความไม่สะดวกในการเดินทาง เพิ่มต้นทุนการดำเนินการ ส่งผลต่อการบริหารจัดการ และส่งผลเชิงจิตวิทยาถึงการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ ที่อาจชะลอไปก่อนเพื่อรอดูการคลี่คลายของสถานการณ์ ตลอดจนความกังวลใจของคู่ค้า

 

คนไทยติดหนี้1.14ล้านบาท

 

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ(SAB) มีโครงการศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ออกสำรวจปีเว้นปี ข้อมูลล่าสุดปี 2562 ระบุ คนไทย 57 % หรือประมาณ 30.42 ล้านคนเล่นการพนัน โดยจำนวนนี้เป็นนักพนันหน้าใหม่กว่า 7 แสนคน มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มที่เล่นพนันในบ่อนประมาณ 122,566 ล้านบาท

 

เมื่อศึกษาลึกลงไปถึงพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นนักพนันมีปัญหา พบว่ามีจำนวน 210,090 คน จำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-25 ปี 38,953 คน โดยคนไทยที่เล่นพนันในปี 2562 จำนวน 1.068 ล้านคน มีหนี้สินจากการพนันรวมกัน 11,468 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 10,738 บาท สูงสุด 200,000 บาท

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชำแหละ ปัญหา "บ่อนพนัน" โยงส่วย-วิ่งเต้น

สุดจะยื้อ บิ๊กปั๊ดสั่งเด้งแล้วผู้การภาค 2 เซ่นบ่อนโควิด 4 จว.ภาคตะวันออก

พิษบ่อนพนัน ‘1ผบช.-5 ผบก.’ สังเวยโควิดระลอก 2