"สบส." ร่วม "อสม." และแกนนำสุขภาพ สร้างความเข้าใจต่อ "รพ.สนาม" กับชุมชน

11 ม.ค. 2564 | 03:05 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2564 | 03:07 น.

“สบส.” ร่วมหารือ “อสม.” และแกนนำสุขภาพ สร้างความเข้าใจต่อโรงพยาบาลสนามกับชุมชน

นายแพทย์ธเรศ  กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Covid-19) ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ทำให้ในขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 10,000 ราย โดยจังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ปริมณฑลที่มีความสำคัญทั้งในภาคเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ก็มีผู้ติดเชื้อสะสมรอบใหม่มากกว่า 140 รายแล้ว

ทั้งนี้ จากแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการรับดูแลรักษาผู้ป่วยอาจไม่เพียงพอ แนวคิดการจัดตั้งสถานที่รักษาพยาบาล และการเตรียมระบบบริการในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างโรงพยาบาลสนามจึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการคัดกรอง และช่วยให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง ได้รับการดูแล รักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมแบบ One Stop Service

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น มิได้อาศัยอำนาจและความเห็นชอบของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องได้รับความยินยอม และการสนับสนุนของประชาชนในชุมชนจึงสามารถดำเนินการจัดตั้งได้ จึงเป็นที่มาของการนำทีมผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.เข้าหารือร่วมกับแกนนำสุขภาพ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวัดปลายคลองขุนศรี และวัดไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

สร้างความเข้าใจต่อชุมชนในการสร้างโรงพยาบาลสนาม

โดยกลุ่มแกนนำสุขภาพที่มาร่วมหารือ ประกอบด้วย 1. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2.บุคลากรสาธารณสุข และ3.ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ แผนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และนำข้อมูลที่ได้ไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับ

นายแพทย์ธเรศฯ กล่าวต่อไปอีกว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนั้น ภาครัฐจะมีการควบคุมมาตรฐานการดำเนินการตั้งแต่การเลือกสถานที่ การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์เวชภัณฑ์ ระบบการดูแลรักษา/ส่งต่อผู้ป่วย ระบบสื่อสาร การป้องกันควบคุมการติดเชื้อ และระบบรักษาความปลอดภัย โดยบูรณาการความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งกรม สบส.ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรม ระบบไฟฟ้า ระบบระบายอากาศ ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม

และให้ อสม.มีบทบาทในการร่วมจัดตั้งและดำเนินการในโรงพยาบาลสนาม ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และร่วมพูดคุยในเวทีประชาคม เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงแนวคิด ความจำเป็น ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามพร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ และร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยที่พักอยู่ในโรงพยาบาลสนามด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นนทบุรี เปิดไทม์ไลน์เจ้าหน้าที่ “สถาบันโรคทรวงอก” ติดโควิด

บุคลากรสภากาชาดไทยติดเชื้อโควิด-19

ยอดโควิด 11 ม.ค.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 5.89 แสนราย รวม 90.65 ล้านราย