“หมอชนะ” ให้รัฐดูแล เพื่อความเป็นเอกภาพ ยันไม่มีปัญหาภายใน

18 ม.ค. 2564 | 09:09 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2564 | 01:59 น.

“พุทธิพงษ์” ยันทีมพัฒนา “หมอชนะ” ไม่มีปัญหาภายใน ระบุให้รัฐบาลดูแลทั้งหมดเพื่อความเป็นเอกภาพ และขยายความสามารถในการรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น

    นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า การพัฒนาแอพพลิเคชัน "หมอชนะ" ขึ้นมาเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19   รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องรับช่วงต่อเพื่อพัฒนาการใช้งาน  ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจากหลักแสนเป็น 5-6 ล้านคน รวมถึงด้านบุคลากรที่ต้องเข้ามาดูแลระบบแบบจริงจังในระยะยาว และงบประมาณที่จะต้องนำมาใช้ในการพัฒนา โดยก่อนหน้านี้ทางทีมพัฒนา “หมอชนะ” ก็ได้มีการพูดคุยกับทางภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง เป็นความตั้งใจของทีมงานที่พัฒนาที่เมื่อถึงเวลาที่ต้องขยายสเกล 

      ผมได้ทำงานร่วมกันกับทีมอาสากว่า 100 ชีวิต มาตลอดเวลาเกือบ 1 ปี และยังหารือการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง  ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน  ซึ่งการส่งมอบการดูแลระบบแอพพลิเคชันนั้น เนื่องด้วยการพัฒนาแอพ "หมอชนะ" ได้ส่งมาทาง สพร. ที่เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้งาน 30-40 ล้านคน และยังพัฒนาต่อเนื่องเพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น

นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

     ด้านนายอนุชิต อนุชิตานุกูล หนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาแอพหมอชนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมงานพัฒนาแอพพลิเคชัน “หมอชนะ” นั้นเกิดขึ้นจากการรวบรวมอาสาสมัครทั้งภาคเอกชน หลายฝ่ายโดยได้มีการพูดคุยกับกระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งแต่แรก  ซึ่งในเดือนที่ผ่านมารัฐได้ประกาศให้ใช้หมอชนะอย่างเป็นทางการ มีเรื่องกฎระเบียบภาครัฐในการเข้ามาดูแลตามข้อกฎหมาย “หมอชนะ” จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีลักษณะที่เป็นทางการและการสื่อสารนั้นจำเป็นต้องมีเอกภาพ โดยรัฐจะมีกลยุทธ์ในการต่อสู้หรือใช้แอพพลิเคชันอย่างไรก็ให้มีการตัดสินใจจากฝ่ายเดียว ขณะที่การดูแลข้อมูลนั้นยังเป็นไปตามเงื่อนไขที่ประชาชนได้ลงทะเบียนไว้ตอนแรกที่ก็จะดูแลต่อไป

นายอนุชิต อนุชิตานุกูล หนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาแอพหมอชนะ 

   

     ขณะที่ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า สำหรับการแจ้งเตือนสถานะระดับเสี่ยงของผู้ใช้งานนั้นมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ  1. ข้อมูลส่วนบุคคล และ2. ฐานของข้อมูลจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือกรมควบคุมโรค เนื่องจากแอพไม่สามารถเปลี่ยนสีได้ด้วยตัวเองต้องผ่านกระบวนการสอบสวนโรคจากกรมควบคุมโรคก่อน  ทั้งนี้การอัพเดทสถานะจะแสดงเป็น 4 สี ได้แก่  สีเขียว คือ กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจได้รับข้อความแจ้งเตือนเฝ้าระวังตนเอง ,สีเหลือง คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ,  สีส้ม  คือ ผู้มีความเสี่ยงสูงในการใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังติดตามสังเกตอาการ และเข้ารับการตรวจหาเชื้อ และ สีแดง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว

    อย่างไรก็ตามกรณีระบบการแจ้งเตือนสถานะสีของแอพนั้นยืนยันว่าไม่มีปัญหา ไม่มีการล็อกสีไว้ให้เป็นสีเขียวอย่างเดียว ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลและยืนยันสถานะสีข้อมูลของผู้ใช้งานหน่วยงานเดียวเท่านั้น อาจจะต้องใช้เวลาให้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบอย่างถูกต้องชัดเจน  

     "ทุกอย่างจะยังทำงานเหมือนเดิม และระบบจะดีขึ้นกว่าเดิม การที่ผู้ใช้มีสถานะเป็นสีเขียวนั้น เนื่องจากการเปลี่ยนสีในระดับต่างๆ จะต้องขึ้นอยู่กับกรมควบคุมโรคเป็นผู้ตรวจสอบและยืนยัน  เพราะแอพไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อมีการแจ้งมายังกระทรวงจึงจะมีการเปลี่ยนสีของผู้ใช้ในระบบ” นายพุทธิพงษ์ กล่าว