"หมอธีระ"เตือน"โควิด"ในไทยตอนนี้ เหมือน"เขื่อน"ที่ระดับน้ำสูงจนวิกฤติ

27 ม.ค. 2564 | 21:05 น.

"หมอธีระ" เปรียบ"โควิด"ในไทยตอนนี้เหมือนเขื่อน ที่ระดับน้ำสูงจนวิกฤติ ผนังเขื่อนมีจุดเปราะบางหลายจุด พร้อมแนะ 5 ทางเลือกเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย  โดยมีใจความสรุปว่า มาตรการหลายอย่างที่ดำเนินการมายังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้  การกระจายอำนาจต่างๆ การบังคับใช้กฏเป็นไปด้วยความยากลำบาก การคัดกรองที่ไม่มากพอตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดการแพร่กระจาย


นอกจากนั้นยังเปรียบสถานการณ์ทั้งหมดในตอนนี้เป็นภาพวาดของ "เขื่อน"ที่ระดับน้ำสูงจนวิกฤติ ผนังเขื่อนดูจะมีจุดเปราะบางหลายจุดที่พร้อมจะแตกได้ พร้อมกันนั้นได้นำเสนอแนวทาง 5 ทางเลือกเพื่อจะแก้ไขปัญหาของ "เขื่อน"

 

สำหรับเนื้อหารายละเอียดของโพสต์แบบละเอียดมีดังต่อไปนี้


27 มกราคม 2564

 

สิ่งที่เราเห็น:


หนึ่ง การกระจายอำนาจบริหารจัดการ โดยกฎเกณฑ์รายละเอียดมากมาย เพื่อให้จัดการกันเองในแต่ละพื้นที่ 


สอง มาตรการที่ดำเนินมานั้นไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ท่ามกลางการเคลื่อนที่ของประชากรที่ไปมาระหว่างพื้นที่ และภายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง


สาม การบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ดูจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ละเมิดกฎระเบียบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดมา นำไปสู่การแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง


สี่ ระบบการตรวจคัดกรองโรคที่ไม่มากพอตั้งแต่ต้น ส่งผลให้มีโอกาสที่จะมีคนติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง กิจกรรมกิจการเสี่ยง รวมถึงในชุมชนต่างๆ กระจายไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว ดังจะเห็นได้จากการตรวจพบติดเชื้อจำนวนมากในการสุ่มตรวจเชิงรุกในไม่กี่วันที่ผ่านมานี้


 แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าสี่สัปดาห์แล้วก็ตาม สะท้อนให้เห็นได้ว่า มีการติดเชื้อกระจายมากเกินกว่าที่จะคาดประมาณได้โดยง่าย


ห้า ความหลากหลายและแตกต่างกันของนโยบายและมาตรการ ตั้งแต่จากส่วนกลางไปจนถึงระดับพื้นที่ มีโอกาสนำไปสู่ความสับสน และอาจนำไปสู่การปฏิบัติที่ขาดประสิทธิภาพ ทั้งของเจ้าหน้าที่และประชาชนได้ 


หากเปรียบสถานการณ์ทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นภาพวาดสักภาพ คงนึกถึงภาพของ"เขื่อน" ซึ่งมีระดับน้ำสูงจนอยู่ที่ระดับวิกฤติ และผนังเขื่อนดูจะมีจุดเปราะบางหลายจุดที่พร้อมจะแตกได้


 

ทางเลือกที่พอทำได้คือ 

 

หนึ่ง หาทางกำจัดหรือระบายน้ำออกจากเขื่อน 

 

สอง แขวนตุ๊กตาไล่ฝนของอิคคิวซังหรือปักตะไคร้ไล่ฝน แต่อย่าแห่นางแมวขอฝนมาเพิ่ม

 

สาม อพยพประชาชนที่อาศัยในพื้นที่หลังเขื่อนให้ออกไปจากพื้นที่อันตราย

 

สี่ ซ่อมผนังเขื่อน เสริมความแข็งแรง

 

และ ห้า หาต้นตอสาเหตุที่มีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์เขื่อนจนจุน้ำเกินกำลัง ไม่ได้ทำนุบำรุงเขื่อนให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จนเกิดความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัย

 

แต่หากไม่มีทางจะทำอะไรในห้าข้อนี้ได้ ก็จะเหลือเพียงการช่วยกันกระตุ้นเตือนกันและกัน ให้ตระหนักถึงสถานการณ์ และหาทางรักษาสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง

 

ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด และปลอดภัยกันทุกคน ตลอดการกรำศึกระยะยาวครับ .. ด้วยรักต่อทุกคน