รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในประเทศไทย รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ล่าสุดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็เข้ามาไทย โดยตรวจพบในคนไทยที่เดินทางมาจากแทนซาเนีย
สายพันธุ์นี้ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะวัคซีนหลายชนิดที่มีอยู่นั้นได้ผลน้อยลงกว่าสายพันธุ์เดิม ส่วนบางตัวดูจะไม่ได้ผลหรือผลจำกัด
ดังที่เราเห็นข่าวจากประเทศแอฟริกาใต้ที่ยกเลิกการฉีดวัคซีนเดิม แต่หันไปฉีดวัคซีน Pfizer/Biontech แทน
ทางบริษัทวัคซีนต่างๆ กำลังเร่งปรับปรุงวัคซีนของตนให้สู้กับไวรัสได้ คงต้องเอาใจช่วยกันให้ดีขึ้นกันหมดทุกตัวโดยเร็ว
การปฏิรูปรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชน และธุรกิจต่างๆ นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการชี้ชะตาการฟื้นตัวของประเทศ
ด้วยสิ่งที่เราเห็นคือ ข้อจำกัดในเรื่องมาตรการควบคุมป้องกัน การดูแล รวมไปถึงหยูกยา คน เงิน สถานที่ และวัคซีน เดิมพันที่มีอยู่ คงอยู่ที่ทักษะการเอาตัวรอดของแต่ละคนแต่ละครอบครัวและแต่ละชุมชน
ถ้าตัวเราระแวดระวังสูงจนเป็นกิจวัตร เป็นความคุ้นชิน โอกาสรอดระยะยาว ฟื้นตัวเองได้ ย่อมสูงกว่าคนอื่น
ธุรกิจห้างร้าน ตลาด และอื่นๆ ก็เช่นกัน หากรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ร้านของตนก็จะสามารถชูคุณค่าพร้อมราคาได้ พร้อมกับโอกาสระบาดจนต้องปิดบ่อยๆ ก็จะน้อยลงกว่าที่อื่น
นอกจากนี้ การได้เข้าถึงและสามารถเลือกใช้วัคซีนหลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูงดังที่ประเทศอื่นๆ ใช้นั้น จะทำให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว แต่หากเข้าถึงช้า หรือมีตัวเลือกน้อย หรือมีประสิทธิภาพจำกัด โอกาสฟื้นตัวก็น้อยกว่า
ภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม ควรได้รับการให้มีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชน หากกังวลเรื่องการติดตามผลข้างเคียง ก็เพียงสร้างระบบรายงานที่มีประสิทธิภาพให้รายงานแก่ส่วนกลาง ไม่น่าเป็นกังวล