รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลก 13 มีนาคม 2564...
วันนี้ทำลายสถิติหลายเรื่อง บราซิลแซงอินเดียขึ้นอันดับสองของโลกเรียบร้อยแล้ว ฝรั่งเศสติดเชื้อทะลุ 4 ล้านคนเป็นประเทศที่ 6 ในขณะที่อเมริกาฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 100 ล้านโดส
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 521,899 คน รวมแล้วตอนนี้ 119,567,334 คน ตายเพิ่มอีก 10,307 คน ยอดตายรวม 2,650,043 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 76,397 คน รวม 29,985,912 คน ตายเพิ่มอีก 1,944 คน ยอดตายรวม 545,249 คน ยอดติดเชื้อรวมกำลังจะแตะสามสิบล้านคน
บราซิล ติดเพิ่ม 85,663 คน รวม 11,363,380 คน ยอดเสียชีวิตวันนี้ก็ยังคงรั้งอันดับหนึ่ง สูงถึง 2,216 คน เสียชีวิตรวม 275,105 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 27,607 คน รวม 11,333,484 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 9,794 คน รวม 4,370,617 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 6,609 คน รวม 4,248,286 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน
เกาหลีใต้ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง ออสเตรเลีย เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เมียนมาร์ จีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...ตอนนี้ชัดเจนมากว่าประเทศในยุโรปหลายประเทศกำลังระบาดขาขึ้นอีกครั้ง ทั้งอิตาลี โปแลนด์ เช็ค บัลแกเรีย โรมาเนีย และแถบสแกนดิเนเวียน อย่างนอร์เวย์ ในขณะที่ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ออสเตรีย เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก ก็กำลังไต่ระดับเพิ่มขึ้น ไม่มีแนวโน้มจะลดลง
...ส่วนบราซิลนั้นถือเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากควบคุมการระบาดไม่ได้ ระบบสุขภาพรองรับไม่ไหว จึงเห็นทั้งจำนวนการติดเชื้อต่อวันและจำนวนการเสียชีวิตต่อวัน สูงที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากบทเรียนที่เรามีมาตลอดปีที่แล้ว จะพบว่ามีโอกาสที่สายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ในบราซิล P.1 นั้นจะแพร่ต่อเนื่องไปยังประเทศข้างเคียงและกระจายไปทั่วโลกได้ในไม่ช้า เฉกเช่นเดียวกับลักษณะของพันธุ์ดั้งเดิมที่จีน รวมถึงสายพันธุ์ D614G จากยุโรป สายพันธุ์สหราชอาณาจักร B.1.1.7 และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351
เน้นย้ำกันอีกครั้งว่า ไวรัสที่กลายพันธุ์นั้นหลายสายพันธุ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดื้อต่อการรักษาด้วยโมโนโคลนัลแอนติบอดี้ พลาสม่า รวมถึงดื้อต่อวัคซีนโควิด-19 ด้วย
วัคซีน Sinovac (ซิโนแวค) ที่ไทยใช้อยู่นั้น ยังไม่มีข้อมูลการศึกษา ในขณะที่วัคซีน Astrazeneca (แอสตร้าเซนเนก้า) นั้น แม้จะใช้ได้กับสายพันธุ์สหราชอาณาจักร แต่ได้ผลน้อยมากต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์บราซิล
แผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น หากประเมินตามสถานการณ์ในปัจจุบันของโลก และของไทยเราเองที่ยังมีชนิดวัคซีนจำกัด ปริมาณจำกัด จำนวนการฉีดจำกัด รวมถึงเรื่องอื่นๆ และที่สำคัญมากคือ การระบาดในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ดูแล้วเสี่ยงสูงเกินกว่าที่จะยอมรับได้
สิ่งที่ควรทำให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ การจัดหาวัคซีนที่มีสรรพคุณสูงชนิดอื่นๆ ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ และมีสรรพคุณต่อไวรัสสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ เข้ามาใช้ประเทศ และเร่งปฏิรูประบบการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ค้าขาย บริการ ให้มี"รูปแบบถาวร"ที่เน้นความปลอดภัยทั้งต่อผู้ประกอบการ คนทำงาน และลูกค้า ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม จำนวนการติดต่อพบปะ เวลา รวมถึงการปฏิบัติป้องกันตัวส่วนบุคคล
ด้วยรักและปรารถนาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :