รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า สงกรานต์...ที่ปลอดภัย...
ความรู้ที่มี:
1. โรคติดต่ออย่างโควิด-19 นั้นเกิดเพราะเราติดต่อกัน
2. ยิ่งอยู่"ใกล้กัน"...ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ
3. ยิ่งอยู่ด้วยกันเป็น"เวลานาน"...ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ
4. ยิ่งเจอกัน"บ่อย"พบกันบ่อยติดต่อกันบ่อย...ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ
5. ยิ่งอยู่ในที่"ปิดทึบ" ในห้อง ในบ้าน ในอาคาร "ไม่ระบายอากาศ"...ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ
6. ยิ่งมีพฤติกรรม"ไม่รักษาความสะอาดส่วนตัว"...ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ
7. ยิ่งมาจาก"พื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีเคสติดเชื้อในช่วง 14-28 วันที่ผ่านมา"...ยิ่งมีโอกาสติดเชื้อมาและแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
8. คนสูงอายุ ผู้หลักผู้ใหญ่ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วรุนแรง เสียชีวิตได้มาก
9. ปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง มีการติดเชื้อแฝงในชุมชนอยู่ทั่วไป ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้
สิ่งที่ควรทำ:
1. ดีที่สุดคือ "ไม่ติดต่อพบปะกันแบบตัวเป็นๆ ไม่จัดงาน ใช้ออนไลน์แทน"
2. แต่หากจะจัดเทศกาลประเพณีสงกรานต์ เพราะทนต่อความอยากไม่ไหวจริงๆ ก็ขอให้ดำเนินการ โดยหาทางลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมา ดังนี้
หนึ่ง งดการรื่นเริงสาดน้ำประแป้ง เฮฮาปาร์ตี้ เพราะครบองค์ประกอบของความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ
สอง จัดประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในรูปแบบ New Normal โดยเน้นหลักการคือ "จัดให้ไกลกัน ระยะเวลาสั้นๆ พบปะสัมผัสกันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จัดในที่โล่งแจ้งระบายอากาศ รักษาความสะอาดและป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากาก-ล้างมือ-ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกัน และหากคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เลี่ยงได้ก็จะดีมาก ไม่งั้นต้องระแวดระวังให้มาก"
สำคัญที่สุดคือ หลังเสร็จงาน คนที่จัดและคนที่ร่วมงานควรสังเกตอาการตนเอง หากไม่สบายคล้ายหวัด ควรคิดถึงโควิด-19 ไว้ด้วยเสมอ ควรหยุดเรียนหยุดงานแล้วรีบไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล อย่าปล่อยทิ้งไว้หรือซื้อยากินเอง
ด้วยรักและปรารถนาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :