วันนี้ (13 มีนาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 78 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 33 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 34 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 13 มีนาคม 2564 มีผู้รักษาหายแล้ว 21,909 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.29 อยู่ระหว่างการรักษา 585 ราย เสียชีวิตสะสม 26 คน
การติดเชื้อในประเทศพบ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร 48 ราย กรุงเทพมหานคร 13 ราย ปทุมธานี 4 ราย ตากและอ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ เป็นหญิงไทย อายุ 56 ปี มีโรคประจำตัว เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง มีประวัติเดินทางและพักอาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใน จ.สมุทรสาคร เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมามีอาการเหนื่อยมากขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตวันที่ 12 มีนาคม 2564
สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระยะแรกใน 13 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 12 มีนาคม 2564 ฉีดแล้ว 44,409 คน ภาพรวมถือว่าทำได้เร็วกว่าเป้าหมาย มี 7 จังหวัดที่ฉีดครบ 100 เปอร์เซนต์ ส่วนสมุทรสาครและกรุงเทพมหานคร จะฉีดได้ตามเป้าหมายภายในสัปดาห์หน้า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 รวม 63 ล้านโดส จะฉีดได้ครบถ้วน 31.5 ล้านคน คนละ 2 โดส ก่อนสิ้นปี 2564 โดยตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นไปที่มีวัคซีนมากขึ้น วางแผนฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า แผนการฉีดวัคซีนจะเสร็จสิ้นในปี 2565-2566 เป็นแผนเก่าที่กรมควบคุมโรคเคยเสนอต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อพฤศจิกายน 2563 เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการนำวัคซีนมาใช้ การวิจัยยังไม่แน่ใจถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยว่าจะป้องกันโรคได้หรือไม่ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่ากว่าวัคซีนจะใช้ได้คงอีกหลายปี
“เมื่อประเทศไทยมีการจองซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส โดยลงนามสัญญาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ต่อมามีการระบาดของ จ.สมุทรสาคร ได้จัดหาวัคซีนของซิโนแวค 2 ล้านโดสเข้ามาเพิ่มอย่างเร่งด่วน และจัดซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าอีก 35 ล้านโดส จึงมีการปรับแผนการฉีดวัคซีนใหม่ให้สอดคล้องสถานการณ์ โดยจะฉีด 63 ล้านโดสให้เสร็จภายในปี 2564 ซึ่งแผนการฉีดวัคซีนนี้ผ่านความเห็นชอบของ ศบค. คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีการแถลงต่อสื่อมวลชนให้ทราบต่อเนื่อง การนำแผนเก่ากลับมาพูดว่าฉีดวัคซีนล่าช้า จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน” นพ.โอภาสกล่าว
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนการชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ขณะนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นว่า อาการลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดในยุโรป ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขกำลังรวบรวมข้อมูล ทั้งข้อมูลทางการจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะมีผลสรุปได้ในสัปดาห์หน้า ถ้าไม่เกี่ยวกับวัคซีนก็จะกลับมาเริ่มฉีดวัคซีนต่อไปตามแผนที่กำหนดไว้ ยืนยันว่าวัคซีนที่จะนำมาให้คนไทยต้องมีความปลอดภัย