รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า พลาดไปแล้ว..แก้ใหม่
1. การตรวจเชิงรุก?
เราไม่เคยมีการตรวจเชิงรุกที่แท้จริง รุกคือ ตรวจทุกคน ให้ทุกคนเข้าถึงได้ เร็ว ถูก ดี คัดกรองไม่หลุดเลย
2. แล้วสมุทรสาคร?
ตรวจเยอะจริง แต่วิธีตรวจครั้งเดียวโดยการแยงจมูกหาเชื้อ ทราบกันทั่วโลกแล้วว่า หลุดแน่ จึงต้องตรวจหลายครั้งในช่วง 10-14 วัน
สมุทรสาคร ตรวจแล้วแยกคนมีเชื้อจริง แต่คนที่เหลือ ทำงานต่อ โดยไม่แยกตัว ชัดเจนเพราะข้อจำกัดทางกายภาพ และไม่มีตรวจซ้ำ ทำ bubble and seal คิดว่าได้ผล?
3. สมุทรสาคร จากมกราคม ถึง มีนาคม?
ผลจากการตรวจ ระยะต้น คนที่หลุดจากการตรวจ ไม่ได้แยกตัว ทั้งหมดกลายเป็น กลุ่มเพาะเชื้อใหม่ รังเพาะโรค เข่น ในโรงงาน 2000 คน ใน3 สัปดาห์ มีติดเชื้อใหม่ 283 ราย จากการตรวจเลือด ในจำนวนนี้ยังปล่อยเชื้อได้ 148 ราย และอีกสามสัปดาห์ต่อมามีการติดเชื้อ 538 ราย ยังปล่อยเชื้อได้อีกหลาย 100 คน
4. เชื้อเหล่านี้เป็นเชื้อตายหรือไม่?
ปริมาณของเชื้อที่ปล่อยออกมามีจำนวนสูง แม้จะเกิดในคนไม่มีอาการก็ตาม แต่ความสามารถในการติดต่อยังคงเป็นเช่นเดิม เชื้อไม่ใช่ซาก
5. แล้วจะเกิดอะไร?
เมื่อมีการเปิดโรงงานเปิดตลาด เปิดกิจกรรมและกิจการในสมุทรสาครเต็มที่ ตั้งแต่ กลางมีนาคม โดยยังไม่สามารถแก้ปัญหาความแออัดยัดเยียด และไม่สามารถคงระยะห่างสำหรับคนที่ทำงานได้ นั่นก็คือกลับเข้าวงจรเดิม และเชื้อที่ถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อเข้าคนที่ไม่แข็งแรง ก็จะเกิดอาการมากบ้าง น้อยบ้าง และมีโอกาสทำให้ระบบรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆเริ่มตึง ท่านผู้ว่าเป็นตัวอย่าง คนไม่มีอาการ ทำหน้าที่เป็นตัวแพร่ชั้นดี
6. แล้วในจังหวัดอื่นๆและที่อื่นๆที่เห็น?
ปทุมธานี นครปฐม บางแค ที่มีตลาดจะเกิดเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในพื้นที่และคนที่จับจ่ายใช้สอย หรือทำธุรกิจจากพื้นที่หรือจังหวัดอื่นมีโอกาสสูงที่จะติดไปและลามไปในจังหวัดต่างๆ
7. ผลทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว?
เมื่อเราดูนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเราคิดว่าคนจากต่างประเทศจะนำโรคเข้ามา แต่ต้องคิดกลับว่า นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจเหล่านี้ที่จะเข้ามาอาจมองประเทศไทยว่า สะอาดจริงหรือไม่ และเมื่อเข้ามาแล้วจะติดเชื้อกลับไปอีก
8. แล้วทำอย่างไรต่อ?
สร้างการรับรู้บนพื้นฐานของความเป็นจริง ถึงจุดอ่อนที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดในทางปฏิบัติ ให้คนไทยทุกคนทราบและตระหนักในสถานการณ์ที่แท้จริงและทำให้ต้องคงวินัย รวมทั้งรักษาระยะห่าง ไม่ใช่เป็นการประกาศ ตัวเลขต่ำสิบ ตรวจน้อย เจอน้อย และคนไทยสบายใจ วินัยหย่อน ยอมรับความเป็นจริงว่ากระบวนการเทคนิคในการตรวจเชิงรุกที่ใช้อยู่ขณะนี้ “ไม่มีจริง”
ชุดตรวจไวไม่ว่าจะตรวจเลือดปลายนิ้วหรือการตรวจหาโปรตีนจากการแยงช่องจมูกแอนติเจนเชื่อถือไม่ได้ และต้องหยุดใช้ทันทีพร้อมกับเพิกถอนออกจากตลาดในทันที เข้าใจให้ถ่องแท้ว่าการตรวจเชิงรุกคือ การตรวจที่ทำได้ทุกคน ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด สามารถให้ความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะในครอบครัว ในหมู่เพื่อนฝูง ในโรงเรียน สถานประกอบการธุรกิจทุกประเภท
ผู้กำกับ การจัดการ นโยบาย และบริหาร ต้องได้รับข้อมูลจริง และรับว่ามีช่องโหว่ นี่คือ ปีที่สองของโควิด ไม่ใช่ เรื่องที่เกิด เมื่อวาน เราทุกคน คือคนไทย ทำเพื่อคนไทย และประเทศ
ผักชี ไม่มีใช้ในกิจการนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :